ครม.ไฟเขียว อินทัช ถือหุ้น ไทยคม 51% พ่วงสัญญา ไอพีสตาร์

ครม.ไฟเขียว อินทัช ถือหุ้น ไทยคม 51% พ่วงสัญญา ไอพีสตาร์

ครม.ไฟเขียว 3 ข้อผ่าทางตันดาวเทียมไทยคม ให้อินทัช ถือหุ้นไทยคม 51% พ่วงสัญญาไอพีสตาร์ สั่ง วิษณุ ตั้งคณะทำงานสอบหลังพบมีผลเสียหายจากการดำเนินการที่ผ่านมา

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ 

ซึ่งบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันชื่อบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 กันยายน 2564

อ่านข่าว : ดีอีเอส ยัน ดาวเทียมไทยคม ไร้รอยต่อแม้หมดสัญญา
 

สำหรับแนวทางดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีรายละเอียด ดังนี้

1.กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ. ไทยคม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  (ปัจจุบันคือ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์) ในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อย 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ. ไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร การที่สัญญาหลักระบุให้บริษัทต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นไปเพื่อให้บริษัทคู่สัญญามีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ

2.กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

3.ครม.เห็นชอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ว่าเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง  พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. กล่าวว่า ครม.ใช้เวลานานกว่า 40 นาทีในการพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยรัฐมนตรีมีความกังวลในการลงมติให้ความเห็นชอบเรื่องดังกล่าว อาทิ 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ห่วงว่าจะเป็นการทำผิดให้เป็นถูก เพราะสัญญาดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์โครงการมาตั้งแต่แรก เช่นเดียวกับ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ค้านว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การให้ความเห็นชอบโดยที่ไม่เห็นรายละเอียดในสัญญา อาจทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีปัญหา และหากที่ประชุมจะเดินหน้าพิจารณาและลงมติเห็นชอบ ตนจะขอถอนตัวออกจากวาระพิจารณาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้พยายามชี้แจงรายละเอียด พร้อมยืนยันว่า การพิจารณาของ ครม.จะเห็นชอบเพียงกรอบการดำเนินการ จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปจัดทำรายละเอียดในสัญญาเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จากนั้นจะนำให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง