ทำไม (บาง) คน เห็นผี ? หาหมอแผนปัจจุบันได้หรือไม่ รักษาอย่างไร
หลายครั้งที่เราเจอกับสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เช่น บางคนเห็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น อาการชักเกร็ง ไม่เป็นตัวเอง อาการดังกล่าว เป็นอาการทางระบบประสาท จิตเวช หรือไม่ และต้องรักษาอย่างไร
จากข้อคำถามที่ว่า การที่หลายคนบอกว่า สามารถมองเห็นสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ผีเข้า มีอาการชักเกร็ง กระตุก ไม่เป็นตัวของตัวเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือผ่าท้องแล้วพบผม เล็บ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ หรือทางการแพทย์อย่างไร
วานนี้ (13 ก.ย. 64) “นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์” นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษ “ทำไม (บาง) คนเห็นผี?” ผ่านระบบ Zoom โดยอธิบายว่า สมองของคนเราทำหน้าที่หลายอย่าง สมองที่ทำแต่ละหน้าที่ จะสามารถอธิบายได้ว่าเรามีอาการแบบนั้น เพราะอะไร ทั้งนี้ อาการที่พบ ได้แก่
“เจ้าตัวรู้สึกเอง” (Sense) เช่น รู้สึกว่าเห็น สัมผัสได้ ได้กลิ่น ได้ยิน
“อาการหลอน” (Hallucination) มีหลายแบบ เช่น จะได้ยิน สัมผัส กลิ่น หรือเห็นโดยที่ไม่มีอะไรกระตุ้น กล่าวคือ สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นจะอยู่ด้านหลัง มองส่วนที่ทำหน้าที่ได้ยินจะอยู่ที่ขมับ และสมองส่วนรับกลิ่นจะเหนือโพรงจมูกลึกเข้าไป เมื่อสมองส่วนนี้ทำงานผิดปกติ บางครั้งไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้น สมองสามารถที่จะสร้างไฟฟ้ากระตุ้นให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้
"ถ้าคนไข้มีอาการ เห็น ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ จะต้องหาว่ามีความผิดปกติในส่วนของสมองทางการมองเห็นหรือไม่ บางคนหูแว่ว เห็นภาพหลอน หลายอย่างรวมกัน อาจจะมีความผิดปกติหลายๆ ส่วนรวมกัน เป็นอาการหลอน โดยไม่ต้องมีอะไรกระตุ้น สามารถเห็นและรู้สึกได้ หรือไม่เห็นไม่ได้ยิน แต่รู้สึกตามร่างกาย"
“อาการเห็นผิด” (illusion) เห็นสายน้ำเกลือเป็นงู ต้องมีอะไรกระตุ้นก่อน แต่สิ่งที่เห็นแปรผลผิดไป
“อาการหลงผิด” (Delusion) เช่น ข่าวฆาตรกรรมในครอบครัว ที่ลูกบอกว่าถูกสั่งให้ทำ มีผีมาสั่งให้ทำ ซึ่งอาการทางด้านหลงผิด จะค่อนไปทางจิตเวช
“มีคนเห็นว่า...” (Witnessed) คนไข้ไม่ได้รู้สึกเอง แต่คนอื่นเห็นและมองว่าเป็นผีเข้า เช่น อาการตาขวางเหมือนผีเข้า เป็นต้น
“อุปทานหมู่” (Mass Hysteria) เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับจิตสังคม ซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในกรณีที่กลุ่มบุคคลนั้นมีความคิด ความเชื่อ ว่าตนเจ็บป่วยเป็นโรค เดียวกันหรือเผชิญปัญหาเดียวกัน จึงแสดงอาการออกมาแบบเดียวกัน เช่น หลายคนออกอาการเหมือนผีเข้า หลายคนส่งเสียงกรีดร้อง โดยไม่มีเหตุผล บางรายเห็นภาพหลอน แสดงกิริยาก้าวร้าวออกมา เป็นต้น
- ทำไมผ่าท้องเจอเส้นผม ฟัน
นพ.ชลภิวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า ในบางกรณีที่ปวดท้อง ผ่าตัด เจอผม เจอฟัน เจอเล็บ เราเรียกว่า "เนื้องอก" และสามารถเจอได้ในผู้หญิง เพราะตัวเซลล์ตั้งแต่ตอนที่เราปฏิสนธิ เกิดจาก 1 เซลล์ และ 1 เซลล์ค่อยๆ แบ่งตัวไปเป็นผม ขน เล็บ ผิวหนัง ซึ่งจะเจริญอยู่ด้านนอก แต่บางทีในช่วงการเจริญเติบโต อาจจะเจริญเติบโตผิดที่ และอาจจะไปพบในช่องท้อง เมื่อโตขึ้นทำให้มีอาการ ตรวจเจอ และผ่าตัดเจอได้
- ทำไมบางคนบุคลิกเปลี่ยน กรีดร้อง
มีคนไข้โรคหนึ่ง คือ กลุ่มที่เป็นโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยอาการอาจจะเริ่มจากการมีไข้ พฤติกรรมเริ่มเปลี่ยน บุคลิกเปลี่ยน กรีดร้อง มีอาการตาเหลือก ก้าวร้าวจากที่เคยเรียบร้อย สุดท้ายเริ่มซึมลง นอนนิ่ง ตาเหลือก ตาค้าง หากเป็นแบบนี้จะมี "โรคกลุ่มสมองอักเสบ" ส่วนใหญ่เจอในอายุน้อย วัยรุ่น เรียน ทำงาน คือ สมองอักเสบจากแอนติบอดี NMDA ทำให้อาการเหมือนผีเข้า
- ท่าทางเหมือนผีเข้า สวดมนต์
หากอยู่ๆ มีอาการเปลี่ยนแปลงทันที จะเจอได้ในกลุ่มที่เป็น "โรคลมชัก" บางคนชักเกร็งกระตุกทั้งตัว แต่ในความเป็นจริงลมชักไม่ได้มีแค่เกร็งกระตุกทั้งตัว อาจจะมีตาเหลือก พูดเหมือนสวดมนต์ พูดเหมือนไม่เป็นตัวเอง เวลาที่คนไปจับ พยายามยึด ยื้อ จะมีการต่อสู้เกิดขึ้นได้ หรือบางคนเกร็งกระตุก ตาเหลือก น้ำลายฟูมปาก เป็นอาการชักได้เหมือนกัน
- เคลื่อนไหวผิดปกติ ควบคุมไม่ได้
ส่วนอาการเคลื่อนไหวแขนขาผิดปกติ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดจากสมองฝั่งตรงข้าม บางคนบอกว่า จะหยิบจับอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เหมือนมีคนมาคว้าแขนไป หรือ พยายามจะหยิบจับสิ่งของ หยิบไม่ถูก จับไม่ถูก กะระยะผิด บางคนอาจจะคิดว่าผีเข้าหรือพยายามผลักมือ แต่ความจริงสามารถอธิบายได้ในโรคเหล่านี้ หากเกิดขึ้นที่บริเวรใบหน้า ขะยิ่งคล้ายถูกผีเข้า
- วินิจฉัย รักษาอย่างไร
ปกติเวลาคนไข้ที่มีอาการ รู้สึกว่าผิดปกติไม่ว่าจะเชื่อว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องมาซักว่าเขาเป็นอย่างไร เพราะบางคนที่มา ดูเหมือนทุกอย่างปกติ หากก้ำกึ่งจิตเวช ต้องให้หมอจิตเวชมาช่วย หรือต้องดูควบคู่กันไป
บางคนที่เปลี่ยนไป ชัก ตาเหลือก ก้าวร้าว เหมือนผี เวลาเอกซเรย์ก็อาจจะพบความผิดปกติ ดังนั้น นอกจากซักประวัติ ตรวจร่างกาย ก็จะมีการเอกซเรย์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเทคโนโลยีไปไกลมาก เราสามารถวิเคราะห์และหาสาเหตุได้
บางคนมีความผิดปกบริเวณสมอง จะทำให้มีอาการชัก เกร็งกระตุกทั้ง เกร็งกระตุกข้างเดียว หรือ ขา แขน อย่างเดียวก็ได้ หรือบางคนไม่ได้เกร็งกระตุก แต่มีอาการใจสั่น หวิวๆ ปวดท้องช่วงสั้นๆ หรือกลัวโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกคลื่นไส้ บางคนถุยน้ำลายโดยไม่สามารถบังคับได้ หรือบางคนสวดมนต์ เหล่านี้เป็นอาการทางระบบประสาททั้งหมด หรือเป็นโรคลมชัก
- อาการขนลุก
สำหรับ อาการขนลุก คือ การทำงานระบบประสาทอัตโนมัติ บางคนอาจจะปวดท้องเข้าห้องน้ำ หรือ รู้สึกกลัว จะขนลุก แต่หากไม่มีเหตุอะไร ขนลุกซ้ำๆ ต้องไปหาหมอ อาจเกิดจากสมองอักเสบแบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือ โรคลมชัก บางครั้งอาจจะขนลุกทั้งตัว หรือขนลุกแค่ซีกใดซีกหนึ่ง ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม หากขนลุกซีกเดียว เป็นโรคแน่ๆ ต้องมา รพ. เพื่อวินิจฉัย และรักษา ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีด
- ฟอกน้ำเหลือง รักษากลุ่มภูมิคุ้มกันผิดปกติ
หากเป็นกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันทำให้สมองอักเสบ นอกจากให้ยาฉีด ก็ต้องทำการฟอกน้ำเหลือง เพื่อเอาแอนติบอดี หรือ ภูมิคุ้มกันผิดปกติออก ต้องใช้เครื่องเหมือนฟอกไต
หากผิดปกติที่หลอดเลือดสมอง ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสายสวนหลอดเลือด หรือ หากมีก้อน เนื้องอก ดื้อยา ให้ยาไม่ได้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด แต่ในบางคนไปหาหมอแล้วปกติดี เพราะ อาการทางระบบประสาทสามารถเกิดขึ้นแบบชั่วคราว และพอหยุดก็เหมือนคนปกติได้ แต่ต้องไปหาสาเหตุ
- รักษาด้วยหมอปัจจุบัน กับ ความเชื่อได้หรือไม่
นพ.ชลภิวัฒน์ อธิบายว่า พอคนเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากภูตผีปีศาจ สิ่งเหนือธรรมชาติและไปหาหมอผีอย่างเดียว โดยไม่ไปหาหมอแผนปัจจุบัน จะทำให้เสียโอกาส ดังนั้น สามารถหาทั้งสองหมอพร้อมกัน แต่อย่าทิ้งหมอปัจจุบัน สามารถทำควบคู่กันไป
- ทำไมบางคนตรวจไม่พบอาการ
อาการหลอน เกิดขึ้นตามความเสื่อมได้ เช่น ในคนที่สูงอายุ เริ่มมีความจำเสื่อม ถดถอย ผิดปกติ สมองส่วนอื่นๆ ก็จะมีความเสื่อมไปพร้อมกับอายุได้เหมือนกัน ดังนั้น เวลาเริ่มเสื่อม อาจจะทำให้การทำงานรวน เวลาที่รวนขึ้นอยู่กับว่ารวนที่สมองส่วนไหน ทำให้เกิดการทำงานผิดพลาดในช่วงสั้นๆ แต่อาการเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเยอะ หรือเกิดทุกวัน ทั้งวัน หรือตลอด หากเป็นแค่ชั่วคราวก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถอธิบายได้
- เป็นโรคทางกาย หรือ จิตเวช
ส่วนใหญ่หากเป็น "โรคทางกาย" ที่เกิด มักจะเป็นแบบเดิมซ้ำๆ เหมือนเดิม ตรวจเอกซเรย์แล้วมักจะเจอความผิดปกติ เป็นโรคทางระบบประสาท แต่หาก เริ่มมีความซับซ้อน มีเรื่องอื่นเข้ามาปนเยอะขึ้น ก็จะเป็น "โรคทางจิตเวช" ได้ เพราะฉะนั้น หากมาหาหมอ ตรวจทุกอย่าง ไม่เจอความผิดปกติ ส่วนใหญ่จะปรึกษาจิตแพทย์ด้วย
- ทำไมหาหมอแล้วไม่ดีขึ้น
นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่คนมักจะรู้สึกว่าไปหาหมอหนึ่งครั้งไม่ดีขึ้นก็จะเลิก ต้องบอกว่าหมอไม่ใช่ผู้วิเศษ หมอต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์เยอะ ถึงจะทำการรักษาได้ รอบแรกอาจจะยังไม่ดีขึ้น ต้องปรับยา เพิ่มยา หรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ถึงจะสามารถดูแลรักษาได้ อย่างไรก็ตาม สามารถรักษาควบคู่ทั้งหมอผีและหมอแผนปัจจุบัน
- คนรอบข้าง ครอบครัว ต้องทำอย่างไร
ทั้งนี้ สำหรับคนรอบข้างและครอบครัว หากรู้สึกว่ามีความผิดปกติ ไม่ว่าความผิดปกตินั้นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่สามารถอธิบายได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนไข้เข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัย รักษา ในฐานะครอบครัวเอง ต้องมีส่วนสนับสนุนในการพาไป รพ. และหาสาเหตุ
หากป่วย สุดท้ายตรวจรักษาแล้ว หมอส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำในการดูแลสำหรับญาติในการดูแลด้วย โดยกลุ่มที่ญาติจะมีส่วนเยอะ คือ กลุ่มโรคทางจิตเวช ความเข้าใจต่อสิ่งที่เขาเป็น บางครั้งโรคทางจิตเวชมีกลุ่มที่แกล้งทำด้วย แต่คำว่าแกล้งทำ หมายความว่า อาจจะตั้งใจทำก็ได้ แต่จะมีบางกลุ่ม ที่ทำโดยไม่รู้สึกตัว เป็นจิตใต้สำนึก ดังนั้น ครอบครัวจึงมีส่วน เช่น หากเขาต้องการทำสิ่งนี้เพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่าง การตามใจทุกครั้งก็จะไม่ทำให้ปัญหาถูกจัดการ
"เช่น เราเคยอาจจะเคยเห็นการให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงเด็ก เวลาที่ไปซูเปอร์มาเก็ต เด็กร้องอยากได้สิ่งของ หากเราตามใจทุกครั้ง เด็กจะรู้ว่าเขาต้องร้อง เขาถึงจะได้ หมอเด็กจะให้คำแนะนำว่า ปล่อยให้เขาร้องสักพัก และหากเขาเหนื่อยก็จะเงียบ และเข้าไปคุยด้วยเหตุผล"
- แนะเข้ารับการรักษาให้เร็ว
“สุดท้าย ผมจะชอบบอกคนไข้ที่มาหาเสมอว่า ปัจจุบันเราไปท่องอวกาศแล้ว ปัจจุบัน เราสามารถคุยกับคนที่อยู่ไกลได้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ นานา ปัจจุบันเราสามารถตรวจในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่เคยตรวจได้ เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีไปไกลมาก ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและผิดปกติ สามารถหาสาเหตุและสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ทั้งหมด หากเราทิ้งระยะเวลาไปนานเท่าไหร่ เราจะเสียโอกาสที่จะกลับมาเป็นคนปกติ เราอาจจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้หากเราสามารถเข้าถึงการรักษาให้หายขาดได้เร็ว” นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าว
- ใช้สิทธิ 30 บาทได้หรือไม่
นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับ สถาบันประสาทวิทยา เป็น รพ.รัฐ หากมีสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ใช้ได้ทั้งหมด หรือใครที่เข้ามารักษาเอง ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายของ รพ.รัฐ ไม่แพง โรคทางจิตเวชก็ใช้บัตร 30 บาทได้ ปัจจุบัน มีโรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช หรือโรคที่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ อย่าลืมไปพบหมอแผนปัจจุบันร่วมด้วย