เวิลด์แบงก์ชี้ โลกร้อนทำผลผลิตเกษตรลดลง อีก 20 ปี ข้าวร่วง 5.3%
ธนาคารโลกชี้ อีก 20 ปี ผลผลิตข้าวลดลง 5.3% ปัจจัยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำอุณหภูมิสูงขึ้นแหล่งน้ำลดลง ชี้สัดส่วนวันที่อากาศร้อนของไทยจะมีสูงถึง 160% ด้าน สศก. ตระหนักปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนเร่งระดมแก้-ป้องกันเชื่อรับมือผลกระทบได้
World Bank Thailand เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด เรื่อง รายงาน ความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของไทย ปี 2564 [ Climate Risk Country Profile: Thailand (2021)] จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank : ADB ซึ่งเป็นการสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่าสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงมีผลต่อภาคเกษตรมีอิทธิพลต่อประเทศไทยในฐานผู้ผลิตอาหาร
โดยผลทางตรงคืออุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่วนผลทางอ้อมก็คือปริมาณแหล่งน้ำจะลดลงและฤดูกาลต่างๆผันแปร,แร่ธาตุในดินที่จะเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องของแมลงและโรคพืชต่างๆหรือแม้แต่การเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ๆมารุกรานพืชผล รวมไปถึงพื้นที่เพาะปลูกที่จะลดลง
ในระดับนานาชาติพบว่า สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเสียหายของผลผลิตต่อไร่ แม้ว่าจะมีการปล่อยมลพิษในสัดส่วนที่ต่ำก็ตาม โดยรายงานในแบบเดียวกันนี้ ได้ประเมินว่า ผลผลิตข้าวโพดต่อไร่จะลดลง 5-6%บนพื้นฐานที่ข้อตกลงปารีสระบุไว้ว่า อุณหภูมิโลกจะเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส
รายงานระบุว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลผลิตการเกษตรมีส่วนสำคัญต่อท้องถิ่น โดยพบว่า ปริมาณฝนตกระหว่างการเพาะปลูกข้าว คือ ก.ย.-ต.ค. มีสัดส่วนลดลง ขณะที่อุณหภูมิกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีผลต่อปริมาณผลผลิตข้าว
จากการศึกษาพบว่าปริมาณฝนตกจะลดลงราว 10% ในอีก 60ปีข้างหน้าหรือราวปี 2080 ภายใต้สมมติฐานการปล่อยมลพิษสัดส่วน 8.5
(RCP 8.5) และปริมาณน้ำต่อการเพาะปลูกจะลดลงราว 29% ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประเทศไทยคือต้องสามารถที่จะเผชิญกับการลดลงของผลผลิตข้าวในสัดส่วน 5.3% ช่วงปี 2041-2050 หรืออีก 20 ปีจากนี้ ภายในการเทียบกับฐานปี 1991-2000
“ท่ามกลางผลผลิตที่ลดลงขณะที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงกว่า35 องศาเซลเซียสในแต่ละวัน โดยจำนวนวันที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 160% ซึ่งจะเป็นวันที่ร้อน ในอีก 20 ปีจากนี้หรือ 2080-2099 ภายใต้สมมติฐานการปล่อยมลพิษในระดับสูงสุด จึงคาดการณ์ได้ว่าผลผลิตการเกษตรจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน”
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯติดตามปัญหาภาวะโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้เอาไว้ ส่วนหนึ่งเพราะภาคเกษตร มีการใช้น้ำในการประกอบกิจกรรมจำนวนมาก ปริมาณฝนที่ลดลง หรือ ฝนตกผิดฤดูกาลจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและรายได้เกษตรกร
ดังนั้นในส่วนของข้าว จึงมีการปรับปรุงพันธุ์ใช้น้ำน้อย รวมทั้งปรับแผนวิธีการ จากนาหว่าน นาดำ ที่ใช้น้ำมาก ก็จะปลูกหยอดหลุม ปล่อยน้ำสลับแห้ง รวมทั้งปรับแผนการเพาะปลูก บางพื้นที่เพื่อให้สอดรับกับสภาพฝนที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญได้สนับสนุนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีการเกษตร เพื่อลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน รวมทั้งลดการเผาทำลายตอซัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างก๊าซเรือนกระจก
“ในกรณีที่ธนาคารโลกระบุผลกระทบต่างๆอาจจะอยู่บนพื้นฐานที่ทุกคนไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นไปได้ที่ผลกระทบจะรุนแรง ตามนั้น แต่ ปัจจุบัน ทุกฝ่าย ทุกองค์กร ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่รุนแรงขนาดนั้น และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพยากรณ์การเพาะปลูกจะช่วยให้ความเสียหายต่างๆลดลง เช่น การใช้บิ๊กดาต้า ”