เครือข่ายเด็กฯ 50 องค์กร ออกแถลงการณ์เสนอแก้พ.ร.บ.ควบคุมน้ำเมา

เครือข่ายเด็กฯ 50 องค์กร ออกแถลงการณ์เสนอแก้พ.ร.บ.ควบคุมน้ำเมา

เครือข่ายเด็กและเยาวชน 50 องค์กร ออกแถลงการณ์ เสนอแก้ พรบ.ควบคุมน้ำเมา เปิดทางขาย 24 ชม. โฆษณาเสรี เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจ หนุนร่าง พรบ.ฉบับ ภปค. อุดช่องว่างกฎหมาย

 

วันนี้ (20 ก.ย.2564) เครือข่ายองค์กรด้านเด็ก เยาวชนและเครือข่ายสุขภาพ 50 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในประเด็นการแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  ซึ่งทางฝั่งธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อย ได้ผลักดันให้มีการแก้ไข

โดยมีสาระสำคัญ อาทิ การเปิดทางให้โฆษณาได้เสรี  ขายได้ ตลอด 24 ชม.  ขายในมหาวิทยาลัยได้  รวมถึงให้จัดส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถมได้ เป็นต้น ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับเดิมอย่างสิ้นเชิง  เป็นกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าปกป้องเด็กและเยาวชน  คุ้มครองสุขภาพประชาชนและลดผลกระทบทางสังคม 

นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ  ผู้ประสานงานเครือข่าย Active  Youth กล่าวว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 พบว่าสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทย แม้ในภาพรวมจะลดลงต่อเนื่อง  แต่ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังสูงถึง 15.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 จากจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป  

ที่น่าห่วงคือในจำนวนนี้เป็นนักดื่มที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี มากถึงร้อยละ 47.1 พบอายุเฉลี่ยของผู้ที่ดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 20.3 ปี ผู้ชายจะดื่มไวกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยผู้ชายจะดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 19.3 ปี และผู้หญิง 23.7 ปี น่ากังวลคือ พบเยาวชนไทยเริ่มดื่มครั้งแรกตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ สูงถึงร้อยละ 12.2  

 

  • "น้ำเมา"สาเหตุหลักเด็กไทยเกิดปัญหา-เสียชีวิต

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนผู้ชายและผู้หญิงเริ่มดื่มสุรามากที่สุด คือเลียนแบบเพื่อนหรือเพื่อนชวน ร้อยละ 38.9 รองลงมาคือ อยากทดลองดื่ม ร้อยละ 29.1  และต้องการเข้าสังคมในงานรื่นเริง/งานประเพณี ร้อยละ 17.7

ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่า  เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ กว่าร้อยละ 60 กระทำความผิดหลังการดื่ม  โดยเฉลี่ยภาพรวมคนไทยเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 26,000 คน   มูลค่าเสียหาย  ความสูญเสีย โอกาสจากการทำงาน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

สำหรับปัจจัยสำคัญของการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ คือ การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ง่ายเกินไป แม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่ร้านเหล้าผับบาร์เลือกที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเพียงเพื่อหวังผลกำไรในช่วงวันดังกล่าว เช่น ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จัดกิจกรรมโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจลูกค้า ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นต้น   

แม้ปัญหาและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะปรากฏชัดเป็นที่ประจักษ์ เช่น การทะเลาะวิวาท ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ อาชญากรรม ปัญหาอุบัติเหตุเจ็บตายบนท้องถนน เป็นต้น

แต่กลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมุ่งมั่นผลักดันมาตรการเพื่อตอบสนองผลโยชน์ทางธุรกิจ ด้วยการเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 โดยอ้างความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย ขัดขวางและเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มธุรกิจรายเล็ก จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการขาย-การดื่ม โดยเสนอให้อนุญาตให้ขายและดื่มเครื่องดื่มในมหาวิทยาลัย ยกเลิกมาตรการในการควบคุมเรื่องเวลาทำให้ขายได้ตลอด 24 ชม. โฆษณาได้อย่างเสรี  สามารถบรรยายสรรพคุณ

 

  • 4 ข้อแถลงการณ์ปกป้องเด็กจากน้ำเมา

รวมถึงการส่งเสริมการขาย เช่น การจัดโปรโมชั่น (ลด แลก แจก แถม) , จัดบูทให้ชิม , การขายด้วยตู้อัตโนมัติ และอีกหลายประเด็น  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจทั้งสิ้น  ทำลายเจตนารมณ์สำคัญของกฎหมายในการปกป้องเด็กและเยาวชน  ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  กลายสภาพเป็นกฎหมายที่สนับสนุนการค้าขายได้อย่างเสรี

ด้านนายณัฐพงศ์  สำเภาแก้ว  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง  กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ  เครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก เยาวชน  ผู้หญิง  ครอบครัว และเครือข่าย สุขภาพ 50 องค์กร  เราจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อรัฐบาล  รัฐสภา  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ เพื่อเป็นของขวัญในวันเยาวชนแห่งชาติ (20 กันยายน 2564)  

1. เพื่อเป็นของขวัญในวันเยาวชนแห่งชาติ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญในการคุ้มครอง  ปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด  ด้วยนโยบายและมาตรการที่เข้มแข็ง  จริงจัง  รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย มากกว่ามุ่งปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจ  และควรมีนโยบายการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก เยาวชนได้แสดงออก ปล่อยของ  ลดพื้นที่เสี่ยงในชุมชน  

2.ขอคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ฉบับของนายเจริญและกลุ่มธุรกิจและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีสาระเพื่อการลดทอนประสิทธิภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ผลิต นำเข้าและจัดจำหน่าย เพราะในมาตราต่างๆที่เสนอแก้ไข นั่น คือการทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิม  ในการคุ้มครองปกป้องเด็กและเยาวชนอย่างสิ้นเชิง   มุ่งเพียงการส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แสรีมากขึ้น ท้ายที่สุดคือการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจรายใหญ่  สร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจโดยละเลยผลกระทบทางสังคมโดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน

3. เครือข่ายขอสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ฉบับของภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) ที่สร้างความชัดเจนในการควบคุมการโฆษณามากขึ้น ห้ามการใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโฆษณา  เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน  และเพิ่มความรับผิดของผู้ขาย ที่ขายให้คนเมาจนไปก่อเหตุ ฯลฯ ขอเรียกร้องให้ฝ่ายธุรกิจประกอบกิจการโดยคำนึงถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะต่อเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง   

4. ขอเชิญชวนเพื่อนเยาวชนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หันมาดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เสริมสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการเจ็บป่วย เป็นโรค

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอให้หลีกเลี่ยงการสังสรรค์ การรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ   อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรายังมองว่าภาครัฐตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  ปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยสุราน้อยเกินไป