"บีโอไอ"เพิ่มสิทธิ์ดึงลงทุน หนุนขีดความสามารถแข่งขันประเทศ
บอร์ดบีโอไอปรับสิทธิประโยชน์ลงทุนดึงลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดึงวิจัยการแพทย์ รถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม หวังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพิ่มขีดสามารถแข่งขัน
การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้มีความสนใจเพิ่มมากขึ้นในกิจการเป้าหมายที่ต้องการให้มาลงทุน
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบมาตรการสำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1.การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนและยาในประเทศและการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถนำเงินสนับสนุนแก่โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานภาครัฐมาขอสิทธิประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ได้ กรณีที่เงินสนับสนุนมีมูลค่าอย่างน้อย 1% ของยอดขายของโครงการใน 3 ปีแรกรวมกัน หรืออย่างน้อย 200 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1-3 ปี และเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วน 100% ของค่าใช้จ่าย ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ จะเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วน 100% ของค่าใช้จ่ายเท่านั้น
การผ่อนปรนเงื่อนไขและขยายเวลาการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการได้สิทธิบีโอไอ ได้แก่ การผ่อนผันขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เช่น ISO 9002, CMMI แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการตรวจประเมินที่ล่าช้า หรือไม่สามารถตรวจประเมินในสถานประกอบการได้ โดยขยายเวลาอีก 6 เดือน นับจากวันครบกำหนดการดำเนินการระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2564 และการผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือนระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2564 โดยกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจากบีโอไอ
2.การขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสนับสนุนการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศด้วย โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ดังนี้
การขยายขอบข่ายการสนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากให้ครอบคลุมถึงการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกข้าวแบบปล่อยมีเทนต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ได้ขยายระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการเศรษฐกิจฐานรากออกไปอีก 1 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2564 เป็นภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565
การเพิ่มขอบข่ายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใต้มาตรการย่อยด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระบบทำความเย็นของโรงงานและห้องแช่แข็ง เป็นต้น โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สัดส่วนร้อยละ 50ของเงินลงทุน
การปรับปรุงประเภทกิจการสิทธิและประโยชน์ใน 2 กิจการ คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Storage and Utilization : CCSU) ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ กิจการห้องเย็นหรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น ในกรณีใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
การเปิดให้ส่งเสริมการลงทุนกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
3.กระตุ้นไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเห็นชอบการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยขยายขอบข่ายของประเภทกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ให้ครอบคลุมการผลิตแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV Platform) ที่ใช้ร่วมกันระหว่างยานยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์และรุ่นที่ต่างกัน ซึ่งช่วยลดวัตถุดิบที่ต้องใช้ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายการผลิตและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด
สำหรับแพลตฟอร์มดังกล่าวต้องประกอบด้วย Energy Storage System, Charging Module และ Front & Rear Axle Module พร้อมกันนี้ยังเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถจักรยานไฟฟ้า โดยรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิต Traction Motor และหรือการผลิตโครงรถจักรยานไฟฟ้าจากวัสดุน้ำหนักเบาภายใน 3 ปี นับจากวันออกบัตรส่งเสริม จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีกกรณีละ 1 ปี นอกจากนี้ ยังขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหากมีการวิจัยพัฒนาด้วย
นอกจากนี้ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการรขยายกิจการของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง กำลังการผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 460 ตัน/ชั่วโมง ลงทุน 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018)
สำหรับภาพรวมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.- มิ.ย.) ของปี 2564 ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 198 โครงการ หรือ 25% ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมูลค่าเงินลงทุน 120,814 ล้านบาท หรือ 31% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา