"รมช.มนัญญา" สางปัญหานมโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ จ.ระยอง

"รมช.มนัญญา" สางปัญหานมโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ จ.ระยอง

ความคืบหน้า "รมช.มนัญญา" สางปัญหานมโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ จ.ระยอง

รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแก้ปัญหานมโรงเรียน กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ จ.ระยอง ว่ามีโรงเรียน 17 แห่ง ที่ไม่ได้รับนมโรงเรียนจากผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข 

ร่วมกับ นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ  นางสาวปารีณา ซักเซ็ค คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ  นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสมพร ศรีเมือง รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และผู้เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

\"รมช.มนัญญา\" สางปัญหานมโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ จ.ระยอง

รมช.มนัญญา กล่าวว่า จากกรณีของผู้ประกอบการนมโรงเรียนไม่ส่งนมให้ 17 โรงเรียน ในจังหวัดระยองนั้น ซึ่งได้ตรวจสอบข้อมูลเอกสารแล้วแสดงถึงความไม่โปร่งใสในโควตาของผู้ประกอบการนมโรงเรียน จึงได้มีการเชิญกรมปศุสัตว์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประชุมด่วนในวันนี้ โดยได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ไปดูรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนใหม่ อาจต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในหลายๆ ประเด็น เพื่อให้รัดกุมรอบคอบ และดียิ่งขึ้น
 

อีกทั้งเกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก โดยให้สอดคล้องกับมติครม. เรื่อง การทบทวนระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ปี 2562 ด้วย และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็ก และเยาวชน ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อไป 

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ขั้นตอนก่อน และหลัง มีระบบติดตามคุณภาพนม ตรวจสอบเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ตรวจสอบความพร้อม และประวัติของผู้ประกอบการ ในส่วนของระบบรายงานเรื่องการตรวจสอบคุณภาพต้องมีหน่วยกลางที่วิเคราะห์ ต้องไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมคุณภาพ เราต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และถูกต้อง 

สำหรับการจัดสรรสิทธิ และพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ปี 2564 ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จำนวน 6 กลุ่ม รวม 95 ราย จำนวนนักเรียน 6,951,599 คน ปริมาณสิทธิการจำหน่าย 1,039.33 ตันต่อวัน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ ดังนี้ 

1. คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน
(อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน /ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์เป็นเลขาฯ) ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (ตามมติครม.) รวบรวมประเด็นปัญหาของหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ ประชุมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ยกร่างหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ และเสนอต่อคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็ก และเยาวชนพิจารณา

2.คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน (ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นเลขาฯ) เห็นชอบและประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ (ตามมติครม.)

3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็ก และเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) รับสมัคร/จัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการ (ตามมติครม.) ติดตามการจัดทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนให้ครบถ้วน (ตามมติครม.) ตรวจสอบ ติดตาม และกำกับดูแลโครงการในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็ก และเยาวชนระดับจังหวัดทุกจังหวัด

4.อ.ส.ค. ทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทุกรายกับผู้ประกอบการ (ตามมติครม.) มอบอำนาจให้ผู้ประกอบการไปทำสัญญาซื้อขายกับหน่วยจัดซื้อ/โรงเรียน (ตามมติ ครม.) จัดเก็บสัญญาซื้อขายนมโรงเรียน

5. หน่วยจัดซื้อ/โรงเรียน จัดซื้อและทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียน เก็บรักษา และแจกจ่ายนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนดื่ม