เปิดคู่มือ "เลือกตั้ง อบต." 28 พ.ย.64 บนแนวปฏิบัติ "เลือกตั้งแซนด์บ็อกซ์"
การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องยึดกฎเหล็กเคร่งครัด ไม่ให้เกิด "คลัสเตอร์เลือกตั้ง" เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจาก"โควิด" จากแนวปฏิบัติ "เลือกตั้งแซนด์บ็อกซ์" ให้ปลอดภัยที่สุด
เตรียมพร้อมเป็นทางการสำหรับการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในวันที่ 28 พ.ย.2564 ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้เชิญ พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมชมการสาธิตการจัดหน่วยเลือกตั้งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด" ยังไม่หยุดนิ่ง
ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศยังสูงมากกว่าหมื่นรายต่อวัน แต่ถือว่าการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ "กกต." มีประสบการณ์จัดเลือกตั้งในสถานการณ์ "โควิด" มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วันที่20 ธ.ค.63 และการเลือกตั้งเทศบาลวันที่ 28 มี.ค.64
ทว่าการเลือกตั้งเป็นหนึ่งกิจกรรมรวมตัวจากคนจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีจำนวน อบต.มากเป็นอันดับต้นๆ อาทิ นครราชสีมา 243 แห่ง ศรีษะเกษ 179 แห่ง อุบลราชธานี 179 แห่ง บุรีรัมย์ 145 แห่ง และสุรินทร์ 144 แห่ง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ในช่วงวันเลือกตั้งออกเสียงที่จะเกิดขึ้น
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เช็คยอด "อบต." ทั่วประเทศ เตรียมพร้อม "เลือกตั้งอบต." 28 พ.ย.นี้
การจัดรูปแบบ "หน่วยเลือกตั้ง" เป็นขั้นตอนสำคัญต่อแผนจัดเลือกตั้ง อบต.วันที่ 28 พ.ย.2564 ทำให้ "กกต." กำหนด "โมเดล" จัดเลือกตั้งท้องถิ่นภายใต้สถานการณ์โควิด ตั้งแต่เตรียมสถานที่เลือกตั้งเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละหน่วยไม่เกิน 600 คน หรือการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ตั้งแต่หน้ากากอนามัย Face Shield เจลล้างมือแอลกอฮอล์
วันที่ 10 พ.ย.63 ก่อนวันเลือกตั้ง อบจ.ทั่งประเทศ 20 ธ.ค.63 กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง "การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมกรณีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" เพื่อกำชับให้คณะกรรมการเลือกตั้งประจำ อบจ. และผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำ อบจ.ขณะนั้น "ปรับขั้นตอน" และ "วิธีการ" ให้เหมาะสมตามสถานที่ และเป็นไปตามแนวปฏิบัติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เปิดคู่มือ ปชช.ต้องรู้ ไทม์ไลน์ "เลือกตั้ง อบต." 5.3 พันแห่งทั่วประเทศ
ไม่ใช่แค่นั้นแต่ใน "โมเดล" การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น "กกต." เคยออกเอกสารถึง "ผอ.กกต.จังหวัด" ลงวันที่ 29 ต.ค.2563 กำหนดแนวปฏิบัติกรณีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำหนด "มาตรการ" ป้องกันการแพร่ระบาด ตั้งแต่ช่วงรับสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น จนถึงวันนับคะแนนเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง อบต.จะเริ่มตั้งแต่วันรับสมัคร 11-15 ต.ค. ได้กำหนดมาตรการไว้ดังนี้
1.สถานที่รับสมัคร ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 7 ตารางเมตรต่อคน และมีอากาศถ่ายเทสะดวก และให้เจ้าหน้าที่ทำความอุปกรณ์การรับสมัครและห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง
2.จัดที่นั่ง ให้มีระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้สมัครเลือกตั้งอย่างน้อย 1.5 เมตร
3.จำกัดจำนวนคน ที่เดินทางมาสถานที่รับสมัคร ให้มีผู้ติดตามไม่เกิน 2 คน
4.จัดให้มี อสม. ทำหน้าที่คัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่รับสมัคร
5.กำหนดให้เจ้าหน้าที่รับสมัคร สวมหน้ากากอนามัย สวม face shield และถุงมือยาง เพื่อลดการแพร่เชื้อ
6.การจัดขบวนแห่ หรือการหาเสียง บริเวณสถานที่รับสมัคร เพื่อป้องกันคนมาชุมนุมรวมตัวกัน ให้เป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง
วัน "ลงคะแนน" ได้กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส "โควิด" ดังนี้
1.แต่งตั้งผู้ช่วยเหลือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งโดยพิจารณาแต่งตั้งจาก อสม.ทำหน้าที่คัดกรองผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่เกินหน่วยเลือกตั้งละ 3 คน
2.จัดผังที่เลือกตั้งให้มีระยะห่าง ระหว่างคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งผู้ทำหน้าที่รับแสดงตน กับผู้ทำหน้าที่จ่ายบัตรเลือกตั้งให้มี ระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร
3.จัดระเบียบการเข้าแถว ระหว่างการรอแสดงตนขอใช้สิทธิโดยให้มีระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
4.จัดให้มีเก้าอี้สำหรับนั่งรอ โดยมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร เพื่อรองรับกรณีมีผู้มาใช้สิทธิพร้อมกันเป็นจำนวนมาก
5.จัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ก่อนเข้าแสดงตนที่หน่วยเลือกตั้ง
6.จัดแยกคูหาลงคะแนน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัดไว้เป็นการเฉพาะ
7.จัดให้มีการทำความสะอาด ปากกาโต๊ะที่ใช้สำหรับการลงคะแนนเป็นระยะ
8.ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และ face shield ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ และให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลเป็นระยะ
ที่สำคัญเมื่อถึงเวลา "นับคะแนน" หลังปิดหีบเวลา 17.00 น. ทุกหน่วยเลือกตั้งต้อง จัดระเบียบสถานที่สำหรับผู้สังเกตการณ์ให้มีระยะห่างระหว่าง ผู้สังเกตการณ์นับคะแนนอย่างน้อย 1 เมตร โดยจัดให้มีที่นั่งหรือยืนสำหรับการสังเกตการณ์ โดยเมื่อจัดเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มนับคะแนน
การเลือกตั้ง อบต.ซึ่งเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นลำดับที่ 3 ต่อจากการเลือกตั้ง อบจ.และการเลือกตั้งเทศบาล แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด "โควิด" จากตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งแตกต่างจากสถารการณ์ "โควิด" ในช่วงการจัดเลือกตั้ง อบจ.และการเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านมา
การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ เป็นเหมือนการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องยึดแนวปฏิบัติเคร่งครัด ไม่ให้เกิด "คลัสเตอร์เลือกตั้งอบต." เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจากโควิด ต่อแผน "เลือกตั้งแซนด์บ็อกซ์" ให้ปลอดภัยที่สุด.