ฮาวทูรู้ทัน "ข่าวปลอม" นักจิตวิทยาแนะชาวเน็ต Pause ก่อน Post
ในยุคที่ "ข่าวปลอม" หรือ "เฟกนิวส์" ยังคงถูกปล่อยออกสู่โลกโซเชียลอย่างไม่หยุดหย่อน ชวนรู้วิธีรับมือข่าวปลอมจากคำแนะนำของ "พณิดา โยมะบุตร" นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ใครเคยตกเป็นเป็นเหยื่อของ "ข่าวปลอม" หรือ "FakeNews" บ้าง? โดยเฉพาะผู้ที่เสพสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ที่มีการเสพสื่อที่รวดเร็ว บางครั้งอาจจะไม่ทันคัดกรองให้ดี รู้ตัวอีกทีก็เผลอเชื่อข้อมูลนั้นๆ ไปแล้ว และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เผลอแชร์ต่อข้อมูลผิดนั้นออกไปอีก
แล้วแบบนี้ จะมีวิธีป้องกันและคัดกรอง "ข่าวปลอม" ที่เข้ามาวนเวียนอยู่ในการใช้ชีวิตชีวิตประจำวันได้อย่างไร จึงจะไม่เผลอตกเป็นเหยื่อการแชร์ข่าวปลอมออกไปในโลกโซเชียลให้เพิ่มเติมเข้าไปอีก
เรื่องนี้มีคำแนะนำจาก "พณิดา โยมะบุตร" นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่อธิบายไว้เป็น How To ให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้
1. ลด ละ เลี่ยง การเสพข่าวออนไลน์
ข้อแรกที่ควรปฏิบัติคือ การพยายามลด ละ เลี่ยง การเสพข่าวออนไลน์ แม้อาจฟังดูย้อนแย้ง เพราะคนสมัยนี้เสพข่าวสารผ่านโซเชียลเป็นหลัก เข้าใจว่าอยากเสพข่าวโซเชียล แต่ก็ต้องพยายามลดปริมาณลง
เนื่องจากโดยธรรมชาติของร่างกาย การที่เราคร่ำเคร่งอยู่กับการเสพสื่อผ่านแพลตฟอร์ม Social Media ติดต่อกันนานๆ จะทำให้ร่างกาย จิตใจ และสมองของคนเราอ่อนล้า ศักยภาพในการคิดพิจารณาก็จะลดลงตามไปด้วย
เปรียบเหมือนกับเวลาที่คนเราทำงานหนักหรือเรียนหนักมาทั้งวัน ตอนช่วงท้ายๆ ของวัน ก็จะเริ่มสมองไม่แล่น คิดไอเดียอะไรไม่ค่อยออกแล้ว เพราะฉะนั้น หากเราแบ่งเวลาลดหรือจำกัดชั่วโมงการเสพข้อมูลต่างๆ มันจะช่วยให้เราใช้ศักยภาพในการคิดได้มากขึ้น วิเคราะห์ได้เยอะขึ้น ก็จะหลีกเลี่ยง Fake News ได้ง่ายขึ้น
2. อย่ารีบแชร์! ควร Pause ก่อน Post
ถัดมาคือ ในขณะที่เสพสื่อออนไลน์หรืออ่านข่าวจากช่องทางโซเชียล ก็ควรอ่านอย่างมีสติ อย่าเพิ่งรีบแชร์ต่อเพียงเพราะว่าข้อความโดนใจ แต่ควร Pause ก่อน Post คือ หยุดยั้งมือไว้ ค่อยๆ สำรวจความคิด ความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อประเด็นนั้นๆ ว่าเรามีอารมณ์ หรือ React กับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
ถ้ามีอารมณ์ร่วม เช่น รู้สึกโมโหตามเนื้อหาที่อ่านอย่างมาก ให้หยุดตัวเอง อย่าเพิ่งตอบสนอง อย่าเพิ่ง Comment อย่าเพิ่งกด Like อย่าเพิ่งกด Share รอให้เรารู้สึกว่าอารมณ์เป็นกลางกลางก่อน แล้วค่อยกลับมาดูข้อความหรือ Comment นั้นอีกทีหนึ่ง แล้วตัดสินใจอย่างมีสติว่าจะแชร์หรือคอมเมนต์ตอบกลับหรือไม่
3. ถ้าเป็นข่าว ต้องอ่านหลายๆ แหล่งที่มา
หากเป็นคนที่ชอบอ่านข่าวหรือข้อมูลความรู้ผ่านช่องทางโซเชียล ยิ่งต้องอ่านให้ถี่ถ้วนก่อนแชร์ (ไม่ควรอ่านแล้วเชื่อทันที) และควรตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก่อน อย่าเชื่อเพราะว่าที่มีคนแชร์มาจากเพจที่มีคนตามเยอะๆ หรือว่าเป็นสำนักข่าว เพราะว่าที่เราเห็นหลายๆ ครั้งสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือก็แชร์ข้อมูลพลาดได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้อ่านจึงต้องเช็คความถูกต้องของข้อมูลเสมอ
4. รู้ทันเจตนาตนเอง กดแชร์ข่าวนี้เพราะอะไร?
ข่าวสารที่นำเสนอกันบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน มักจะเป็นข่าวที่ไป Impact กับอารมณ์และความเชื่อของคนอ่าน หากไม่อยากหลงเชื่อไปกับ "ข่าวปลอม" เมื่อเราอ่านเนื้อหาแล้ว ให้ถามตัวเองว่าอยากแชร์เนื้อหานี้เพราะอะไร?
เช่น แชร์แล้วจะทำให้คนอื่นโอเคขึ้น แชร์แล้วเป็นประโยชน์กับคนอื่น แชร์เพราะอยากเผยแพร่ข่าว แชร์เพราะอยากแสดงตัวตน แชร์เพราะต้องการได้รับการยอมรับ อยากสนุก อยากมีเรื่องเม้าท์กลัวคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ฯลฯ ถ้าเนื้อหานั้นๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้เสพข่าวก็ต้องกลับมาคิดว่า ถ้าเป็นคนในครอบครัวเราถูกพูดถึงแบบนี้เราจะรู้สึกยังไง? ดังนั้น หากเจอเนื้อหาลักษณะนี้ เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง และงดการแชร์ต่อ
5. เมื่อตกเป็นเหยื่อของ "ข่าวปลอม" ควรทำอย่างไร?
สำหรับผู้ที่เป็นเหยื่อของข่าวปลอม ก็มีคำแนะนำว่า ให้งดการเสพข่าวในช่วงนั้นๆ ไปก่อน เพราะคอมเมนต์ใต้ข่าวต่างๆ ส่วนใหญ่จะไปในทิศทางเชิงลบ แล้วกลุ่มผู้เสพข่าวเดียวกันนี้ก็จะมีแนวโน้มที่จะเชื่อตามข่าวนี้ต่อไปเรื่อยๆ
แต่ยังดีที่ยุคนี้มีกฎหมายออกมาคุ้มครอง ช่วยคนที่ถูกปล่อยข่าวไปในทางเสียหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากข่าวปลอม สามารถร้องเรียนเอาผิดผู้เผยแพร่ข่าวปลอมได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยปกป้องตัวเองจากผู้ไม่หวังดี โดยสามารถร้องเรียนไปที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ คลิกที่นี่
-------------------------------------
ที่มา : springnews