เกาะติดน้ำท่วม กทม.จับตาฝนตกหนัก 13-16 ต.ค. สั่งเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม
"อัศวิน" นั่งหัวโต๊ะประชุม 6 จังหวัดปริมณฑล หวั่นฝนถล่มกรุง-ระบายออกช้า ขออย่าเรียกน้ำท่วม ให้เรียกน้ำมาก ด้าน "กรมอุตุฯ" เตือนฝนหนักภาคกลาง-กทม. 13-16 ต.ค.นี้
วันที่ 11 ต.ค. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก ทั้งนี้ ในที่ประชุมกรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง หากไม่มีฝนเข้ามาเพิ่มเติม เชื่อว่าบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะมีปริมาณนน้ำไม่
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ขอให้ดูมวลน้ำ ในวันที่ 14-15 ต.ค.ที่เข้ามาเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพฯ จะเกิดฝนตกเม็ดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 13-16 ต.ค. และจะไปเบา 17 ต.ค.เป็นต้นไป และจะมีมวลน้ำก้อนใหม่เข้ามาในพื้นที่ภาคกลาง
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง โดยก่อนถึงฤดูฝน กทม.ได้ลอกท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ความยาว 6,564 กิโลเมตร โดยดำเนินการปีเว้นปี และยังมีการลอกคลองคลองต่างๆ ใยกรุงเทพฯ 1,682 คลอง ขณะที่สถานการณ์น้ำเหนือ และน้ำหนุน ตนไม่กังวล แต่กังวลน้ำฝน เพราะเป็นน้ำระบายออกช้าจากปัจจัยกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กอยู่ที่ 60-80 ซม. จากปกติที่ควรจะมีขนาด 1.50 เมตร แต่ กทท.จะค่อยๆ เปลี่ยนขนาดท่อระบายน้ำ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที เพราะจะกระทบการจราจร
พล.ต.อัศวิน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาฝนตก 100 มิลลิเมตร กทม.สามารถระบายร้ำได้เร็วขึ้น แต่จากนี้ กทม.จะคุย 6 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ เพื่อและเปลี่ยนข้อมูลและประสานทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ยังมั่นใจว่าถ้าน้ำเข้ามาคงไม่สูงเกินกว่าระดับเขื่อนที่มี 3.50 เมตร แต่อาจมีน้ำที่ดันเข้ามาในท่อระบายน้ำเข้ามาในชุมชนเมือง แต่ กทม.ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 97 จุดและในคูคลองอีกพันกว่าตัว ถามว่าหนักใจหนือไม่ก็หนักใจ แต่เชื่อว่าประคับประคองไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ และตนไม่อยากเรียกกว่าน้ำท่วมขอเรียกว่าน้ำมาก
ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวว่า สำหรับจุดอ่อนน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ทั้ง 12 จุด กทม.เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้พร้อมแล้ว ที่ผ่านมาเมื่อเกิดฝนตกจะใช้เวลาระบายน้ำในพื้นที่ไม่เกิน 2 ชม. ส่วนพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพฯ มีเขื่อนป้องกันระดับความสูงสุด 3.5 เมตรนั้น ที่ผ่านมามีน้ำขึ้นมา 2.5 เมตร แต่อาจมีช่องท่าเรือหรือช่องทางเดินที่น้ำเข้ามาได้ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ไปวางกระสอบทราย และเตรียมพร้อมแก้ไขได้ทันที ส่วนกรณีที่กรมอุตุรายงานว่าในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค.จะมีฝนนั้นได้สั่งเขตเตรียมรับมือไว้แล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เช็ค 12 จุดเสี่ยง 'น้ำท่วม' เดิมพัน 8 เขต 'กทม.' ฝั่งธนฯ-พระนคร
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับการบูรณาการร่วมกับ 6 จังหวัดปริมณฑลในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทานกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวงกรมทางหลวงชนบท และกรมเจ้าท่า
ทั้งนี้ กทม.ได้ประสานงานแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักคลี่คลายไปแล้วหลายจุด แต่ยังคงเหลือปัญหาที่ต้องดำเนินการร่วมกันจำนวน 4 จุด ประกอบด้วย
จุดที่ 1 ด้านทิศเหนือเขตติดต่อจังหวัดปทุมธานี ณ ถนนพหลโยธิน บริเวณอนุสรณ์สถานและแยกลำลูกกา โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. จ.ปทุมธานี และกรมทางหลวง
จุดที่ 2 ด้านทิศเหนือเขตติดต่อจังหวัดนนทบุรี แผนพัฒนาคลองส่วย บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และจ.นนทบุรี
จุดที่ 3 ด้านทิศตะวันตกเขตติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ณ ถนนพระรามที่ 2 การเชื่อมต่อท่อถนนสายรองกับถนนสายหลัก เนื่องจากปัจจุบันท่อระบายน้ำถนนสายรองไม่เชื่อมต่อถนนพระรามที่ 2 ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และกรมทางหลวง
จุดที่ 4 ด้านทิศใต้เขตติดต่อจังหวัดสมุทรปราการ แผนการระบายน้ำถนนสุขุมวิท บริเวณปากซอยลาซาลปากซอยแบริ่ง บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และจ.สมุทรปราการ