ครม.อนุมัติงบกลางฯ 500 ล้าน จัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโควิด
ครม.เคาะวงเงินงบกลาง 1.3 พันล้านให้กระทรวงสาธารณสุขรับมือโควิด-19 เพิ่มเติม โดย 500 ล้านบาทให้ไปซื้อยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโควิด-19
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจัดสรรงบกลางรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 1,334 ล้านบาทให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการในการเตรียมความพร้อมรักษาโรคโควิด-19
โดยส่วนหนึ่งจะจัดสรร 500 ล้านบาทให้กรมการแพทย์ไปใช้ในการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 40,000 คอร์ส รวม 2 ล้านเม็ด เพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม
สำหรับรายละเอียดได้แก่ พร้อมอนุมัติงบกลางฯจำนวน 1,334.945 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน ดังนี้
1. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 528,400,000 บาท
2. กรมการแพทย์ จำนวน 500,000,000 บาท ใช้สำหรับจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์
3. กรมควบคุมโรค จำนวน58,165,000 บาท
4. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวน 248,380,000 บาท
และอนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมและใช้จ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีและเงินเหลือจ่ายจากโครงการที่ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบแล้ว ตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564, 5 พฤษภาคม 2564 และ10สิงหาคม 2564 ซึ่งขยายเวลาไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564
สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ 2565 มีวัตถุประสงค์ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
หรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามหลักการแพทย์และสาธารณสุข, ด้านการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่
และมีความปลอดภัยจากการเสียชีวิตจากโควิด-19 รวมถึงการรักษาระดับความมั่นคงด้านสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง, ด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัว มีอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เป็นไปตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และด้าน เสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรม ให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมตามเดิมได้ โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค DMHTTA
ทั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชากรในประเทศไทย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ปฏิบัติงานด่านหน้า กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ได้รับการดูแลป้องกัน รักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง สะดวก และรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้รับการดูแลรักษาจากหน่วยบริการสถานพยาบาลตามระบบการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้ตามสิทธิที่พึงได้ ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือน ธันวาคม 2564