ปัดจ้องเล่นงานนักการเมือง! ปธ.ป.ป.ช.เร่งสางคดีค้าง-ลบคำสบประมาททำงานช้า
“ป.ป.ช.” ก้าวสู่ปีที่ 23 “พล.ต.อ.วัชรพล” ลั่นทำงานด้วยความ “ซื่อสัตย์-สุจริต-โปร่งใส” ให้สังคม “รัก-ศรัทธา” สั่งเร่งสางคดีค้างเก่า บังใช้กฎหมายเคร่งครัด ลบคำสบประมาท “เชื่องช้า” ปัดจ้องเล่นงาน “นักการเมือง” ตรวจสอบเฉพาะบางคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง, นายณรงค์ รัฐอมฤต, น.ส.สุภา ปิยะจิตติ, นายวิทยา อาคมพิทักษ์, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ, พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์, นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา, นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข พร้อมทั้งผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ประกอบด้วย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นายพิเชฐ พุ่มพันธ์ รองเลขาฯ, พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล รองเลขาฯ, นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาฯ, นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาฯ, นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาฯ, นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาฯ ร่วมในพิธีวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 22 ปี ในพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว่า วันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 22 ปี ได้มอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนในปีต่อไป โดยขอขอชื่นชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคน ที่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ทุ่มเททำงาน แม้จะมีสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่ยังมีผลงานด้านการไต่สวนที่มากขึ้นเป็น 2 เท่า หากเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2563 สะสางไป 700 กว่าคดี ส่วนในปี 2564 เป็นปีที่เราต้อง Work from home 100เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถทำได้ 1,500 คดี จึงบอกทุกคนว่าต้องทำให้ได้ในอันตราเดิม ต้องทำงานกันเหนื่อยหน่อย เพราะถ้าในปี 2565 ทำได้กว่า 1,500 คดี ต่อไป ป.ป.ช. จะมีแต่คดีใหม่ ๆ ไม่มีเรื่องค้างเก่า
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ถ้าเราทำคดีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่จะตามมาคือจะสามารถสร้างกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ การบังคับใช้กฎหมายจะมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ขณะนี้พยายามสร้างให้ทุกคนตระหนักรู้ว่าทุกคนต้องมีบทบาท และหน้าที่ ทุ่มเทเสียสละ มีความภาคภูมิใจ ในการเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. ร่วมถึงสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด สำนักไต่สวน สำนักตรวจสอบทรัพย์สิน ทุก ๆ สำนักต้องเข้าใจในนโยบายการทำงาน รวดเร็ว โปร่งใส ให้มีการวางแผนจัดการ ให้งานในส่วนของตัวเองได้รับการบริหารจัดการ ตามที่คณะกรรมการวางแถวทางไว้ว่าลดระยะเวลาในการทำงาน ดำรงความเป็นธรรม ทำงานด้วยความโปร่งใส ที่จะตรวจสอบ และสามารถให้ข้อมูลกับสังคม เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยเน้นการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วม ดังนั้นเมื่อทุกคนวางแผนการทำงานของตัวเองตามหลักการทำงาน วางแผนดำเนินการ ประเมินและปรับปรุง ในหน้าที่ของตัวเอง หากทุกคนทำได้อย่างนี้ งานจะมีแต่พัฒนา ซึ่งเราต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ต้องทำงานทั้ง เอาท์พุท (Out Put) และ เอาท์คัม (Out Come) เช่น สามารถสะสางได้ 1,500 คดี ต้องดูว่าชี้มูลได้กี่คดี เมื่อส่งไปยังศาลแล้ว ต้องติดตามกระบวนการของศาลด้วยว่า อัยการสูงสุดว่าอย่างไร เห็นด้วยกับคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดหรือไม่ หากอัยการไม่เห็นด้วย และตั้งข้อไม่สมบูรณ์ ป.ป.ช.จะตั้งกรรมการไปทำงานร่วมกันเพื่อให้สมบูรณ์ หากศาลไม่ฟ้อง ต้องดูว่ามีกี่เรื่องที่เขาไม่ฟ้อง ต้องมีการติดตามรายละเอียดทั้งหมด เพื่อดูที่ผลลัพธ์ของงาน และหากอัยการไม่ฟ้อง ป.ป.ช.ฟ้องเอง จากนั้นต้องดูขั้นตอนต่อไปคือ การพิจารณาของชั้นศาล ถือเป็นผลลัพธ์อีกขั้นหนึ่ง
“ต้องดูว่าเมื่อป.ป.ช. เอาท์พุตออกมาแล้ว ก็ต้องไปดูเอาท์คัมว่าอัยการเห็นด้วยกับเรากี่เปอร์เซ็นต์ และที่เขาไม่เห็นด้วย คดีไหนข้อหาเป็นอย่างไร และเนื้อหาเป็นอย่างไร ก็จะกลายเป็นบทเรียนที่เราจะนำมาเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้การทำงานของ ป.ป.ช.เอง ต้องติดตามทุกสเต็ปจนกระทั่งคดีถึงที่สุด ซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าคดีที่ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการผ่านชั้นอัยการสู่ศาล แล้วศาลว่าอย่างไร เราต้องแยกแยะออกมา และต้องดูต่อเนื่องด้วยว่าเมื่อศาลพิพากษาแล้วผู้ถูกกล่าวหามีความผิดแล้วไปอยู่ในระบบราชทัณฑ์ กระทั่งเมื่อออกมา ตรงนั้นใช้เวลาเท่าไหร่” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ขณะนี้ โควิด-19 ไม่น่าวิตกมากนัก เพราะมีมาตรการสาธารณสุข และมาตรการทางการแพทย์ที่เข้มงวดมากขึ้น บุคลากรของ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีน เข็ม 3 เรียบร้อย แต่ยังต้องระมัดระวังและเข้มงวดข้อแนะนำทางการแพทย์ แต่ถ้าถามว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่ อย่างที่เรียนแล้วว่า ในปีที่เราต้อง Work from home 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็มีผลงานออกมา และถ้าเราทำงานในปี 2565 ให้ได้ตามเป้า จะทำให้คดีค้างเก่าหมดไป เหลือแต่เรื่องใหม่ ๆ ประกอบกับการรวบรวมหลักฐานทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถทำให้สางคดีได้เร็วขึ้น คนจะเกรงกลัว ป.ป.ช.ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามทุจริตมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาคนบอกว่าเราทำงานเชื่องช้า ก็จะเปลี่ยนไป
“ขณะนี้ปัญหาที่ยังเหลืออยู่คือ การตรวจรับคำกล่าวหา และเรื่องตรวจสอบที่ค้างอยู่อีกมาก ซึ่งในปีนี้มีนโยบายว่า เร่งเรื่องตรวจสอบที่ค้างเก่า โดยมีเป้าหมายว่าต่อไปการตรวจสอบต้องไม่เกิน 1 ปี ไต่สวนก็ต้องเร็วที่สุด โดยขึ้นอยู่กับขนาดของคดี เล็ก กลาง ใหญ่ ให้มีหัวใจว่าทำงานอย่างมีเป้าหมาย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนพร้อมกับให้สื่อมวลชนเป็นหูเป็นตาช่วยเรา และจะทำให้เราทำงานได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
เมื่อถามว่า การทำงานตรวจสอบนักการเมือง ป.ป.ช.ยังจะทำเข้มข้นเหมือนเดิมหรือไม่ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ในการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่นักการเมือง เรามีหน้าที่ไต่สวนวินิจฉัย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่รัฐ หากคดีไหนสังคมสนใจ คดีที่เกิดความเสียหายต่อระบบส่วนรวม นั่นคือ งานของ ป.ป.ช. เมื่อทำงานเช่นนี้ ทำให้เกิดกระแสสังคมว่าเราเอาจริงแล้ว ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญคือ ป.ป.ช.ต้องให้ความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ คนของ ป.ป.ช. ต้องมีมาตรฐาน ซื่อสัตย์ สุจริต เป็นแบบอย่างได้
“ยืนยันว่า ไม่ได้ดูที่ชื่อหรือนามสกุลผู้ถูกกล่าวหา แต่จะต้องวิเคราะห์ว่าเรื่องใดมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม เรื่องใดที่จะทำให้เกิดกระแสในการต่อต้าน ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อสังคม ไม่ได้ดูว่าเป็นคดีของกลุ่มไหน หรือจ้องดำเนินการเฉพาะกลุ่มเฉพาะบุคคล เมื่อเราดูว่าเรื่องนั่นเป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจ เราก็จะวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าของงาน โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ทุกคดี ยึดหัวใจที่สำคัญคือ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เจ้าหน้าที่เราต้องทำงานด้วยความภาคภูมิใจ เสียสละ เพราะงานนี้ไม่มีใครอยากทำ เนื่องจากไม่มีใครชื่นชม มีแต่จะชอบมากหรือชอบน้อย หรือไม่ชอบเลย มีน้อยมากที่จะชอบหรือจะรักป.ป.ช. ดังนั้นเราต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้คนและสังคมศรัทธา” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว