ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้อง “แทน เทือกสุบรรณ” คดีรุกป่าเขาแพง
“ศาลอุทธรณ์” พิพากษาแก้ยกฟ้องอาญา “แทน เทือกสุบรรณ” ลูก “สุเทพ” คดีรุกป่าเขาแพง จ.สุราษฎร์ฯ แต่ส่วนแพ่งสั่งย้ายของออกจากสันอ่างเก็บน้ำ ชี้ไม่มีเหตุถือครองตามกฎหมาย เจ้าตัวเผย “รู้สึกปกติดี”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีรุกป่าเขาแพง จ.สุราษฎร์ธานี คดีหมายเลขดำ อ.3534/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายพรชัย ฟ้าทวีพร ผู้จัดการ หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, นายสามารถ เรืองศรี (โกเข็ก) อายุ 66 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, นายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนักการเมืองชื่อดัง และอดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะนายหน้าขายที่ดิน และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 22
ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1-2 ขายที่ดินให้จำเลย 3 โดยมิได้เข้าไปยึดครอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ ในส่วนของคดีอาญา
ส่วนคดีทางแพ่งให้จำเลยที่ 3, 4 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวาร ย้ายออกจากป่าเขาแพงทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกของโฉนดเลขที่ 28109 ต แม่น้ำอ.เกาะสมุย แนวร่องน้ำ แนวสันอ่างเก็บน้ำ โดยจำเลยที่ 3 และ 4 ไม่มีเหตุจะถือครองตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองรักษาไว้เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ
ภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาดังกล่าว นายแทน ให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ว่า “รู้สึกปกติดี”
ส่วนนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ กล่าวว่า เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 คน แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยในชั้นฎีกา ศาลฎีกาสั่งย้อนสำนวน ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ วันนี้จึงเป็นการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันนี้มีประเด็นอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 กรณีที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 และ 2 ไปซื้อมา ขายให้จำเลยที่ 3 และ 4 นำไปออกโฉนดนั้น แม้เนื้อที่จะเกินไปกว่าน.ส.3 แต่ที่ดินทั้งหมด ผู้ครอบครองได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีหลักฐานการแจ้งครอบครองเป็น ส.ค.1 ส่วนพื้นที่ที่เกินไปนั้น ไม่ใช่พื้นที่ป่า เพราะมีการครอบครองกันมา ส่วนของอาญานั้นศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน
ส่วนที่ 2 คือ ประเด็นในส่วนแพ่ง ที่ศาลอาญาวินิจฉัยพิพากษาว่า ที่ดินบริเวณที่เป็นหัวลูกศร บริเวณแนวโขดหิน ที่เรียกว่า เขาแพง ศาลบอกว่าเป็นพื้นที่ป่า ก็ต้องให้จำเลยที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นผู้ขอออกโฉนด รวมถึงคนงาน ห้ามไม่ให้อยู่ในที่ดินส่วนดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ทางกรมที่ดินได้มีคำสั่งให้ตัดที่ดินส่วนนั้นออกไป จำเลยที่ 3,4 และบริเวณก็ไม่เคยเข้าไปในพื้นที่ส่วนนั้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปตามคำพิพากษา.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 27 ก.ย. 2543-5 ต.ค. 2544 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตร.ว. ส่วนจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากกรณีเป็นเรื่องร้ายแรง พวกจำเลยยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคน อัยการโจทก์ยื่นฎีกา ให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย
ต่อมาวันที่ 18 มี.ค. 2564 ศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ ยังวินิจฉัยไม่ครบถ้วนทุกประเด็น จึงมีคำสั่งย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาพิพากษาใหม่