‘สุพัฒนพงษ์’ ชี้ 4 โอกาสศก.ไทยหลังโควิด ผุดไอเดียร์ผลิตรถยนต์ไร้คนขับ
“สุพัฒนพงษ์” มั่นใจรัฐบาลรับมือโอมิครอนได้ เผยผบห.แอสตร้าเซเนก้าที่เป็นวัคซีนหลักของไทยพร้อมปรับสูตรวัคซีนให้รับมือไวรัสกลายพันธุ์ เดินหน้า 4 เรื่องเตรียมประเทศไทยรับโอกาสหลังโควิด คาดเอกชนลงทุนต่อเนื่องปีละ 8 แสนล้านเข้าสู่ธุรกิจใหม่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “มุมมองใหม่ฝ่าเศรษฐกิจไทยปี 2022” ในงาน INTANIA DINNER TALK จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วานนี้ (1 ธ.ค.) ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในสาขาพลังงาน การส่งออก รวมทั้งภาคขนส่ง แต่ในบางส่วนยังไม่ฟื้นตัวเช่นภาคการท่องเที่ยวที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลด้วยมาตรการต่างๆที่ต้องมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตามในขณะนี้เกิดการระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่เรียกว่า “โอมิครอน”ซึ่งรัฐบาลได้วางแผนที่จะรับมือเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนว่าจะสามารถควบคุมการระบาดและดูแลประชาชนได้ดีกว่าการระบาดในรอบที่ผ่านมาซึ่งสิ่งที่กำลังเร่งรัดคือการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น การเจรจาเรื่องการซื้อยารักษาโควิด -19 ซึ่งรัฐบาลได้ใช้ประสบการณ์จากการระบาดในครั้งที่ผ่านมาๆเพื่อมารับมือในการวางแผนการระบาดระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น
“รัฐบาลมีประสบการณ์ และมีความพร้อมในเรื่องของสาธารณสุข ถ้าเทียบกับการระบาดใหญ่ในช่วงปลายปีก่อน ตอนนั้นเราไม่มีวัคซีนไม่มียาเลยก็ยังสามารถที่จะบริหารจัดการมาได้ แต่ในตอนนี้มีการเตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้แล้วโดยเฉพาะวััคซีนที่มีการสั่งไว้จนถึงปลายปี 120 ล้านโดส มีการส่งมอบแล้ว 90 ล้านโดส ข่าวดีก็คือผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของไทยได้รายงานว่าการจับตาสถานการณ์ในยุโรปโอมิครอนไม่ได้มีการเจ็บป่วยรุนแรงไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล และเขาพร้อมที่จะปรับสูตรวัคซีนให้รับมือกับไวรัสกลายพันธุ์”
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่าในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไปต้องเน้นในการสร้างโอกาสหลังจากสถานการณ์โควิด-19 จบลง หรือเข้าใกล้กับสถานการณ์ปกติ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกัับการดูแลกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤติต่างๆโดยมีคนกว่า 6 ล้านบัญชีที่ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยซึ่งต้องมีมาตรการในการดูแลต่อเนื่อง
สำหรับโอกาสของประเทศไทยหลังโควิด-19 อยู่บนโอกาส 4 เรื่องที่สำคัญคือ
1.เศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล และการเข้าสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเครือข่าย 5G ที่รัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อม และส่งเสริมให้เอกชนลงทุนแล้ว
2.การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ทั้งนี้ประเทศไทยได้กำหนดปีที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดไว้ในปี 2030 จากนั้นจะต้องค่อยๆลดการปล่อยคาร์บอนฯลงจนเหลือศูนย์ ซึ่งในการลดปริมาณคาร์บอนฯที่เราปล่อยอยู่ปีละประมาณ 350 ล้านตัน จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆทั้งเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด พลังงานทดแทนซึ่งเริ่มเห็นการขยับการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะมีการลงทุนประมาณปีละ 8 แสนล้านบาทต่อเนื่องไปอีกหลายปีช่วยจ้างงานและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย
“ยานยนต์ไฟฟ้ายังสามารถที่จะต่อยอดไปถึงรถยนต์ไร้คนขับได้ เพราะขณะนี้บริษัทแอปเปิ้ลของสหรัฐฯมีเป้าหมายจะผลิตรถยนต์ไร้คนขับภายในปี 2025 ประเทศไทยมีบริษัท ปตท.ที่เป็นพันธมิตรกับฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งมีความร่วมมือธุรกิจกับบริษัทแอปเปิ้ลอาจเจรจาดึงเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับเข้ามาผลิตในไทยได้”
3.การเข้ามาพำนักในประเทศไทยระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติ และผู้เกษียณอายุที่มีรายได้สูงจากต่างประเทศที่จะเข้ามาพำนักในประเทศไทยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงที่ดี ค่าครองชีพที่ไม่แพงนัก ระบบการรักษาพยาบาลที่ดีซึ่งช่วยดึงดูดคนกลุ่มนี้เข้าไทยตามนโยบายรัฐบาล
และ 4.โอกาสจากการกระจายฐานการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกซึ่งมีการบริหารความเสี่ยงโดยไมตั้งฐานการผลิตไว้ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะมีการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจในการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม เห็นได้จากตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและใกล้เคียงกับช่วงที่ไม่มีสถานการณ์การโควิด-19 ระบาด
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับการลงทุนทั้งถนน ระบบรางที่จะทยอยแล้วเสร็จในช่วง 4 ปีข้างหน้า