ครม.ไฟเขียวของขวัญปีใหม่ ช้อปดีมีคืน ลดภาษีสูงสุด 3 หมื่นบาท ใช้ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565
คลังคลอดของขวัญปีใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ครม.ไฟเขียวมาตรการช้อปดีมีคืน ลดภาษีสูงสุด 3 หมื่นบาท ใช้ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช้อปดีมีคืนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565
โดยขั้นตอนต่อไปประกาศร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ...)ประมวลรัษฎากรว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร (มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565) เป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลัง พร้อมลุย "คนละครึ่งเฟส 4" มี.ค. 65 อัดแพ็คเกจของขวัญกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบกิจการ การผลิตสินค้าท้องถิ่น (OTOP)
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนักดนตรี ธุรกิจกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ จ่าย 5,000 บาทต่อราย วงเงินประมาณ 600 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัย หรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่า ด้วยอาคารชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ (มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย) เป็นการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ (จากเดิมร้อยละ 2) และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจาก การจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1) เหลือร้อยละ 0.01
สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุน และบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงมาก
โดยมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุน
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ประกอบด้วยร่างกฎหมาย เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เรื่อง มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เรื่อง มาตรการดูแล และเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรง และทางอ้อม ระยะที่ 2 ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2564เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569