"คดีเพชรซาอุ" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์
"คดีเพชรซาอุ" ย้อนรอยวีรกรรม "เกรียงไกร" จอมโจรบันลือโลก ทำไทย - ซาอุดิอาระเบีย ร้าวฉานนานกว่า 30 ปีก่อนฟื้นความสัมพันธ์
จากคดีดังขโมย "คดีเพชรซาอุ" ซึ่งผู้ที่ก่อเหตุคือ "เกรียงไกร เตชะโม่ง" จอมโจรบันลือโลก แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย ได้ขโมยเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ในปี 2532 จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯและไทยเสื่อมลงเป็นเวลามากกว่า 30 ปี
การขโมย "คดีเพชรซาอุ" ของราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย มีจุดเริ่มต้นจากการที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งเป็นแรงงานไทยที่ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดิอาระเบีย และถูกจัดให้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดภายในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย เขาเริ่มการโจรกรรมในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2532
เมื่อนายเกรียงไกรเมื่อเข้าไปทำงานในพระราชวังจึงได้เห็นช่องทางในการขโมยเครื่องเพชรดังกล่าว เพราะเครื่องเพชรเหล่านั้นมีจำนวนมากและถูกวางไว้อย่างไม่เป็นที่เป็นทาง แม้แต่ตู้เซฟก็ยังถูกเปิดทิ้งเอาไว้
เกรียงไกรอาศัยช่วงเวลาที่เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุล อซิซ (Prince Faisal Bin Fahud Bin Abdul Aziz) แปรพระราชฐานไปพักผ่อนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเดือนธันวาคม 2532 ทำการขโมยเครื่องเพชร 91 กิโลกรัม (200 ปอนด์) ซึ่งรวมไปถึงเพชรน้ำเงินกับอัญมณีอื่นๆ รวม 50 กะรัต
โดยเกรียงไกรแอบนำถุงกระสอบขนาดใหญ่เข้าไปในพระราชวัง ซ่อนตัวอยู่ภายในพระราชวังจนถึงเวลากลางคืน แล้วจึงทำการขโมยเครื่องเพชรใส่ถุงกระสอบแล้วโยนถุงกระสอบลงมาออกนอกกำแพงพระราชวัง
เมื่อได้เครื่องเพชรซาอุมาแล้ว นายเกรียงไกรใช้วิธีส่งเครื่องเพชรกลับมายังประเทศไทยล่วงหน้า ด้วยบริการขนส่งพัสดุทางอากาศ โดยปะปนกับเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจพบ เมื่อทำการโจรกรรมเรียบร้อยแล้วเกรียงไกรได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที ก่อนที่เจ้าชายไฟซาลจะเสด็จกลับมายังพระราชวัง ทั้งที่เหลือเวลาทำงานตามสัญญาอีก 2 เดือน
เครื่องเพชรดังกล่าวถูกนำมายังจังหวัดลำปาง เนื่องจากเครื่องเพชรเหล่านั้นแยกยาก นายเกรียงไกรจึงขายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยเครื่องเพชรส่วนใหญ่ถูกขายให้กับช่างทำเพชรพลอยชาวกรุงเทพ "สันติ ศรีธนะขัณฑ์" หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืน
การสืบสวนจับกุมผู้ต้องหา
พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อธิบดีกรมตำรวจ มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตภาคเหนือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ออกติดตามเครื่องเพชรคืนให้แก่รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นเมื่อนายเกรียงไกรก็ถูกชุดสืบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ จับกุมและนำตัวมาสอบสวนจนยอมรับสารภาพ และให้การซัดทอดถึงบุคคลที่รับซื้อเครื่องเพชรไป เพราะเกรียงไกรเกรงว่าจะถูกจับส่งไปดำเนินคดีที่ซาอุฯ ซึ่งมีโทษเพียงสถานเดียวคือ "แขวนคอ" ทำให้ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ในข้อหาลักทรัพย์ 7 ปี (แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน)
ทางการไทยส่งตัวแทนไปคืนเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุดีอาระเบียพบว่า เพชร "บลูไดมอนด์" ได้หายไป และเครื่องเพชรประมาณครึ่งหนึ่งที่ส่งคืนนั้นเป็นของปลอมอีกด้วย
นอกจากนี้มีข่าวลือในสื่อไทยว่าภาพถ่ายในงานเลี้ยงการกุศลพบว่าภรรยาของข้าราชการหลายคนสวมสร้อยคอเพชรที่คล้ายกับเครื่องเพชรที่ถูกโจรกรรมจากซาอุดีอาระเบีย ทำให้ซาอุดีอาระเบียสงสัยว่าตำรวจไทยยักยอกเครื่องเพชรเอาไว้เอง
การตามหาเครื่องเพชรของจริง และคดีฆ่าชาวซาอุ
การย้อนรอยตามหาเพชรซาอุ โดยคณะทำงานของ พล.ต.ท.ชลอ เริ่มต้นที่กลุ่มญาติของ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร. แต่ภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบไม่พบว่ามีมูลความจริง นอกจากนี้ นักการเมือง ตลอดจนคุณหญิง คุณนาย และคนมีสีหลายคนก็ถูกกล่าวหาว่ามีการจัด "ปาร์ตี้เพชรซาอุฯ" ในสโมสรแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นนายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ได้ว่าจ้างชุดสืบสวนพิเศษเพื่อแกะรอยอย่างลับๆ ในการตามหาเครื่องเพชรราชวงศ์แห่งซาอุดิอาระเบีย
Mohammad al-Ruwaili นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์ซะอูด เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อสืบสวนด้วยตนเอง เขาได้หายสาบสูญไปในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 และสันนิษฐานว่าถูกฆ่า ก่อนเขาหายตัวไป
นักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียถูกฆ่าในย่านสีลม เขตบางรัก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 มีนักการทูตชาวซาอุดีอาระเบียเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 คนในย่านยานนาวา ซึ่งคดีเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อยุติมาจนปัจจุบัน
ถึงแม้ไม่มีความเชื่อมโยงว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุดีอาระเบียเชื่อว่ารัฐบาลไทยดำเนินการไม่เพียงพอในการไขปริศนาเกี่ยวกับการฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบีย
มีสมมติฐานหลายประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าดังกล่าว โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา (Mohammed Said Khoja) นักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย เชื่อว่ามีนายตำรวจ 18 นายเกี่ยวข้องกับการหายไปของเพชร และเชื่อว่าตำรวจเป็นผู้ลงมือฆ่านักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย 3 คน
ด้านบันทึกการทูตในปี 2553 จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่เผยแพร่โดยวิกิลีกส์ระบุว่า การฆ่าดังกล่าวแทบแน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบาดหมางระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มติดอาวุธเลบานอนฮิซบุลลอฮ์
บทสัมภาษณ์ในเวลาต่อมา เกรียงไกร ไม่สามารถระบุได้ว่าเพชรบลูไดมอนด์ขณะนี้อยู่ที่ใด และเผยว่า "ถ้าเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในประเทศไทย เรื่องก็จะไม่ใหญ่ขนาดนี้"
จากนั้น พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ กลับมาทำคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ได้ทุกวิถีทางในการนำเพชรที่เหลือกลับคืนมาให้ได้ จากคำให้การของนายเกรียงไกรที่บอกว่า ได้โจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล แล้วนำเข้ามาขายในประเทศไทย โดยขายให้สันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร แต่เขายืนยันว่าคืนให้หมดแล้ว ในปี 2537 ชุดปฏิบัติงานของตำรวจลักพาตัวภรรยาและลูกของสันติเพื่อบีบให้เขาคืนเพชรให้ จนสุดท้ายฆ่าปิดปากทั้งสองโดยจัดฉากให้ดูเหมือนอุบัติเหตุจราจร
ต่อมาทีมสอบสวนชุดใหม่กลับสืบพบว่าเป็นการอุ้มฆ่า จึงได้ทำการจับกุมตัว พล.ต.ท.ชลอ และลูกน้องทั้ง 9 คน มาดำเนินการทางกฎหมาย พล.ต.ท.ชลอ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานออกคำสั่งฆ่าสองแม่ลูกในปี พ.ศ. 2538 และในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ และศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต
ต่อมาเขาได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 50 ปีในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตำรวจอีก 6 นายถูกพิพากษาว่ามีความผิดด้วยและได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 2558 ตำรวจนายหนึ่งในชุดทำงานยังถูกพิพากษาลงโทษฐานยักยอกเงินของกลางในปี 2557
ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 ศาลฎีกาพิพากษาปล่อยตัวนายตำรวจ 5 นายในคดีลักพาตัวและฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย Mohammad al-Ruwaili
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ซาอุดิอาระเบียยกเลิกการทำวีซ่าทำงานให้กับคนไทย และประกาศเตือนคนในประเทศไม่ให้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ทำให้จำนวนคนงานไทยในซาอุดิอาระเบียลดลงจาก 150,000 คน ในปี พ.ศ. 2532 เหลือเพียง 10,000 คน ในปี พ.ศ. 2549
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะฯ ได้เดินทางเยือนกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตามคำเชิญของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดิอาระเบีย ซึ่งนับเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี หลังเกิดคดี "เพชรซาอุ" ที่ทำให้ลดระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศ
ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ทางการซาอุดิอาระเบียไม่ได้ติดใจเรื่องไม่ได้เครื่องเพชรบลูไดมอนด์คืน มากเท่ากับการอุ้มฆ่าเชื้อพระวงศ์ในประเทศไทย และการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ในปี 2565 มาจากวิสัยทัศน์ของซาอุดีอาระเบียเองที่ต้องการสานสัมพันธ์กับทุกประเทศ
ข้อมูล wikipedia.org