ส่อง “ขบวนการค้ามนุษย์” ในสังคมไทย กับปมร้อน "พล.ต.ต.ปวีณ"
หลังการเปิดข้อมูลสำคัญจาก พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตตำรวจผู้ปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อปี 2558 ทำให้มีผู้ถูกออกหมายจับ 155 คน กลายเป็น พล.ต.ต.ปวีณ ต้องขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
หลังจากวันที่ 18 ก.พ.2565 พรรคก้าวไกล ได้สัมภาษณ์ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อปี 2558 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สืบสวนไปถึงต้นตอจนพบว่า มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังตั้งแต่ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ไปจนถึงทหารและตำรวจ
โดยเฉพาะจากเอกสารหลายพันหน้าพบว่า พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นหนึ่งในหัวหน้าทีมค้ามนุษย์ด้วย ทำให้ศาลมีคำตัดสินให้มีความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุก 82 ปี และ มีความผิดฐานฟอกเงิน มีความผิด 20 ปี
หลังจากนั้นไม่นานมีบุคคลอ้างตัวว่าเป็นทหาร ติดต่อไปยัง พล.ต.ต.ปวีณ พร้อมเสนอ 3 ทางเลือกให้พล.ต.ต.ปวีณ ดังนี้
1.เมินเฉยต่อคดีนี้
2.ทำคดีต่อไป
3.ล้มเลิกการทำคดี
แน่นอนว่า พล.ต.ต.ปวีณ เลือกที่จะทำคดีต่อไป แต่ในที่สุดกลับถูกส่งตัวไปยังจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ ถูกกดดันอย่างหนัก จนต้องทำเรื่องขอลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลียในที่สุด
ภาพที่มา : เฟซบุ๊ค รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล
พลิกปูม "ขบวนการค้ามนุษย์" กับความเข้าใจของสังคมไทย
จากเหตุการณ์นี้ทำให้สังคมไทยปัจจุบันเริ่มมีการตื่นตัวและเกิดความตระหนักรู้ในเรื่องของ “ขบวนการค้ามนุษย์” มากขึ้น จนเคยขึ้นแฮชแท็ก #ค้ามนุษย์ ในโลกทวิตเตอร์ เป็นอันดับหนึ่ง ภายหลังการเปิดบทสัมภาษณ์จากพรรคก้าวไกลไปถึง พล.ต.ต.ปวีณ และกระตุกให้สังคมได้เริ่มมองเห็นว่า ปัญหาการค้ามนุษย์มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าที่คิด
จากผู้ลี้ภัยทางสงครามตั้งแต่ปี 2556 จากกลุ่มชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในประเทศเมียนมา ซึ่งเดินทางเข้ามาทั้งทางน้ำและทางบก แต่หากทางการไทยตรวจพบจะถูกจับ และส่งกลับประเทศ ทำให้ "ขบวนการค้ามนุษย์" มีจุดเริ่มต้นมาจากกระบวนการนี้ เนื่องจากนายหน้าชาวโรฮิงญาบางกลุ่ม ต้องการจ่ายเงินให้กับนายหน้าชาวไทย โดยคิดราคาเป็นหัว แลกกับการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศปลายทาง หรือลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย
แต่แม้ว่าจะจ่ายเงินแล้ว ไม่ได้หมายความว่าชีวิตชาวโรฮิงญาจะได้เดินทางต่อไป แต่กลับถูกกักขังและใช้แรงงานเยี่ยงทาสที่บริเวณแถบชายแดน บางคนถูกทรมาณ หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ก่อนหน้านี้มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เป็นที่มาของ 35 หลุมศพที่ถูกพบในเขตเทือกเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา และทำให้เกิดการสืบสวนของ พล.ต.ต.ปวีณ
วันนี้สังคมไทยได้ตระหนักถึง “สิทธิมนุษยชน” ที่ถูกพรากไปจากชาวโรฮิงญา ด้วยน้ำมือของขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย
ว่าด้วย "หลักสิทธิมนุษยชน"
สำหรับ "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" เกิดจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิกต่างๆ ลงมติรับรองและประกาศใช้ เพื่อเป็น "หลักฐาน" สำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อจัดเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุด โดยประเทศต่างๆ จำต้องเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ตราไว้ในปฏิญญาฉบับนี้
ที่สำคัญปฏิญญาฉบับนี้ ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อีกหลายฉบับ จากหลักสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายข้อมีความเชื่อมโยงกับปัญหาของขบวนการค้ามนุษย์ เช่น
- ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม มีอิสระ เสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ
- ไม่แบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น
- สิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ ความมั่นคง
- ไม่ตกเป็นทาส หมายถึง บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาสหรือสภาวะจำยอมไม่ได้ รวมไปถึงทาสการค้าทุกรูปแบบ
- ไม่ถูกทรมาน หรือการปฏิบัติ การลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้
- ไม่ถูกคุมขังโดยพลการ ถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศอย่างไม่มีเหตุผลไม่ได้
- สิทธิในการลี้ภัย โดนทุกคนมีสิทธิแสวงหาและได้ที่ลี้ภัยในประเทศอื่นจากการประหัตประหาร ซึ่งสิทธินี้จะยกขึ้นกล่าวอ้างกับกรณีที่การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นโดยแท้ ความผิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเมืองหรือการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ
สิทธิมนุษยชนที่สมัชชาสหประชาชาติลงมติรับในสมัยประชุมที่ 183 จัดขึ้น ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2591
ประเทศไทย ยังอยู่กลุ่มเธียร์ 2 กับบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง
จากรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2564 ของสถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในไทยรายงานว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ก็ยังมีความพยายามในการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ยังรายงานอย่างแพร่หลายว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวมักจะถูกบังคับใช้แรงงานในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในจำนวนที่ต่ำ เมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา ซึ่งเจ้าหน้าที่มักขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และรัฐบาลขาดระเบียบปฏิบัติ สำหรับพนักงานตรวจแรงงาน กรณีต้องสงสัยไปยังเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย
ขณะเดียวกันทางการไทยไม่เคยรายงานว่า ได้ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน อันเป็นผลมาจากการตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือ การให้บริการต่างๆ แก่ผู้เสียหายโดยรัฐยังคงไม่เพียงพอ และผู้เสียหายบางส่วน ซึ่งพักอยู่ในสถานพักพิงของรัฐขาดเสรีภาพในการเดินทาง การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงขัดขวางความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และรัฐบาลตัดสินเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ว่ามีความผิดจำนวน 5 รายในปี 2563
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงถูกลดระดับมาอยู่ใน “กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง”
นอกจากนี้สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในไทย ยังให้ข้อเสนอกับรัฐบาลไทยว่า ควรพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเชิงรุก พร้อมระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในด้านแรงงาน
รวมถึงการสรุปแนวทางปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า คณะสหวิชาชีพประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์การทำงานในคดีค้ามนุษย์อย่างเพียงพอ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการระบุผู้เสียหาย ไทยควรสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีในเชิงรุกต่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ให้ดำเนินการพิพากษา และลงโทษผู้ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเหมาะสม รวมถึงไทยควรอนุญาตให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ สามารถเดินทางเข้าออกสถานพักพิง และเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้โดยเสรีมากขึ้น
จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ได้ฉายให้เห็นภาพว่าจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อปี 2558 ช่วยปลุกกระแสให้สังคมไทยตื่นตัวกับปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย และมีความพยายามที่จะเปิดโปงการกระทำเหล่านี้
ที่สำคัญได้ช่วยกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามไปถึงเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" ที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ในการมีชีวิตรอด และตระหนักรู้ถึงขบวนการเหล่านี้มากยิ่งขึ้น