คนเชียงใหม่แห่ตรวจ ATK แน่น บ่นอุบ Home Isolation ไม่เป็นระบบ 90%ไม่มีอาการ
สถานการณ์โควิด-19 เส้นด้ายเชียงใหม่ติง Home Isolation ยังไม่เป็นระบบ จี้รัฐนำโมเดลต่างประเทศมาใช้ กลุ่มวัยทำงาน-กลุ่มเด็กต่อคิวตรวจ ATK แน่น ด้าน สสจ.เผย ร้อยละ 90 ผู้ป่วยไม่มีอาการ
สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มวัยทำงาน-กลุ่มเด็กต่อคิวตรวจ ATK แน่น เจ้าหน้าที่แจกบัตรคิวเช้า-บ่าย รอบละ 200 คิว
ขณะที่ กลุ่มเส้นด้ายเชียงใหม่ ติงระบบ Home Isolation (HI) ยังไม่เป็นระบบ ฝากภาครัฐนำโมเดลต่างประเทศมาใช้ ตรวจ ATK ทุกบ้านเชื่อพบเพิ่มจำนวนมาก ด้าน สสจ.เผยร้อยละ 90 ผู้ป่วยไม่มีอาการ เน้นรักษา Home Isolation และ Community Isolation
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดให้เป็นจุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK มีประชาชนมาต่อแถวรอเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจระบุว่า เริ่มมีประชาชนมารอต่อคิวตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. เพื่อรอรับบัตรคิวที่เจ้าหน้าที่จะแจกให้ในช่วงเช้าเวลา 08.30 น. และช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. โดยแจกบัตรคิวให้ช่วงเวลาละ 200 คิวเท่านั้น
ผู้ที่เดินทางมารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในจุดนี้ เจ้าหน้าที่จะคัดกรองตรวจให้เฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงเท่านั้น จากการสังเกตผู้ที่เดินทางเข้ามาตรวจบริเวณดังกล่าวมีการนำผลตรวจ ATK ที่ระบุผลบวกมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อเข้ารับการตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้น
โดยเจ้าหน้าที่จะทำการแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้ทันที พร้อมนำเข้าสู่ระบบ Home Isolation กลุ่มที่เดินทางเข้ามารับการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน และเด็ก ที่ผู้ปกครองพามาเข้ารับการตรวจหาเชื้อ
แหล่งข่าวจากกลุ่มเส้นด้ายเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครเชียงใหม่ เพื่อตรวจเชิงรุกและติดตามผลโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละประมาณ 2,000-3,000 คน
ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อที่ทางจังหวัดแจ้งนั้น เป็นบางส่วนเท่านั้น เชื่อว่าหากมีการปูพรมตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างครอบคลุมทุกบ้าน เชื่อว่าจะพบผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่าที่ทางจังหวัดแจ้งอย่างแน่นอน
ขณะที่โรงพยาบาลเริ่มที่จะออกมาบอกว่าเตียงเต็ม ไม่รับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เป็นการกึ่งบังคับให้ทำ Home Isolation เนื่องจากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่การบริหารจัดการเรื่องดูแลผู้ป่วย Home Isolation ยังไม่เป็นระบบมากนัก แม้จะมีการแก้ไขให้รับยา ฟาวิพิราเวียร์ทันทีที่ตรวจพบผลบวกจากชุดตรวจ ATK ณ บริเวณจุดตรวจที่กำหนดไว้
ปัญหาที่พบในขณะนี้อีกเรื่องคือ กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ต้องทำการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกสัปดาห์ ขณะนี้ขาดแคลนชุดตรวจ ATK เนื่องจากไม่มีงบประมาณเข้ามาอุดหนุน ขณะนี้ทางกลุ่มเส้นด้ายได้ประสานไปยังอปท.ในพื้นที่ เพื่อให้เข้ามาช่วยสนับสนุนชุดตรวจหากไม่เพียงพอกลุ่มเส้นด้ายจะนำเข้าไปเสริมให้ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้เด็กนักเรียนปลอดภัยจากโควิด-19
จากสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่เชียงใหม่ ที่กำลังอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว อยากฝากภาครัฐ ให้นำโมเดลจากต่างประเทศมาใช้ ด้วยการนำชุดตรวจ ATK ไปตรวจคัดกรองหาเชื้อทุกบ้าน หาพบผลเป็นบวกให้จ่ายยาต้านไวรัสและให้กักตัวรักษาในระบบ Home Isolation ทันที โดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามอากาศตลอดระยะเวลากักตัว เชื่อว่าผู้ป่วยติดเชื้อพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบ Home Isolation แต่เนื่องจากขณะนี้ระบบไม่เอื้อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึง หากมีการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึง เชื่อว่าจะพบผู้ป่วยที่มีผลเป็นบวกอีกจำนวนมากอย่างแน่นอน
ด้านนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มีข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นอีกประมาณ 8-10 คน และผู้ติดเชื้อกว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น
การติดเชื้อรายวันของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ส่วนผู้เสียชีวิตมีจำนวนเฉลี่ย 0-2 คนต่อวัน ขณะที่การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้ใช้ระบบ Home Isolation และ Community Isolation สำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว เพื่อสำรองเตียงในโรงพยาบาลหลักให้แก่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก ซึ่งขณะนี้มีเตียงคงเหลือรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ถึง ร้อยละ65
ข่าวโดย นิศานาถ กังวาลวงศ์ จ.เชียงใหม่