กรมอุตุนิยมวิทยา แจงข่าวลือ "อากาศช่วงนี้ เหมือนปี 54" ที่เกิดน้ำท่วมหนัก
กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงข่าวลือ "อากาศช่วงนี้ เหมือนปี 54 ที่เกิดน้ำท่วมหนัก" ยืนยันเป็นเพียงปรากฎการณ์ธรรมชาติ แนะนำประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก
ช่วงนี้ดูเหมือนว่าสิ่งที่สร้างความสุขให้กับคนไทยมากที่สุด คือสภาพอากาศที่เย็นสบาย ที่อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นกลางฤดูร้อนที่ปกติในช่วงเวลานี้ อุณหภูมิทั่วไปน่าจะแตะป้วนเปี้ยนแถว 40 องศาเซลเซียส บวกลบ
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังคมพากันตั้งคำถามว่า เป็นเพราะอะไร ซึ่งก็ได้มีคำตอบอธิบายเรื่องนี้จากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีกระแสในโซเชียลว่า “อากาศช่วงนี้ เหมือนกับอากาศที่เกิดในเดือนมีนาคม ปี 54 หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นในฤดูฝนปีนั้น ไม่ต้องบอกเพราะทุกท่านจำได้ไม่ลืมและพบเจอกับตัวเอง ดังนั้นหากพิจารณาจากหลักทฤษฎีของความคล้ายคลึงกันของสภาพอากาศแล้ว ฤดูฝนปีนี้ พึงระวังให้จงหนักสำหรับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะครับ กลัวว่าจะไม่เตือน”
ล่าสุด วันนี้ (4 เม.ย.) กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ต้องติดตาม ให้ตระหนักในการรับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบ รอบด้านโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ พร้อมแนะนำประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ปริมาณฝนที่ตกในปีนี้มีค่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 113 ใกล้เคียงกับปี 60 ซึ่งเป็นปีที่มีน้ำมากมาตั้งแต่ต้นปี แต่เมื่อเทียบตามสัดส่วนของฝนที่ตกเป็นรายเดือนแล้วยังถือว่า ฝนในช่วงต้นปีมีน้อยกว่าในช่วงฤดูฝนมาก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามและรายงานสถานการณ์ รวมทั้งคาดการณ์ความผิดปกติของลมฟ้าอากาศรวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่อพี่น้องประชาชนให้ทราบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ
ทั้งนี้ สำหรับในเรื่องของอุณหภูมิที่ลดลงต่ำกว่าปกติในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่า เกิดจากปรากฏการณ์ลานีญาร่วมกับความผันผวนในเขตอาร์กติกซึ่งมีค่าดัชนี AO เป็นลบ โดยในภาวะดังกล่าวนั้น ความกดอากาศบริเวณขั้วโลกจะค่อนข้างสูง ส่วนบริเวณละติจูดกลาง (ประมาณ 45 องศาเหนือ)จะมีความกดอากาศต่ำกว่า อากาศหนาวเย็นจะไหลลงมาทางใต้สู่อเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย (http://www.ucar.edu)
ซึ่งอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 - 4 เม.ย. 65 เป็นผลมาจากความผันผวนของมวลอากาศเย็นในเขตละติจูดสูงและละติจูดกลาง ส่งผลกระทบกับศูนย์กลางความกดอากาศสูงบริเวณไซบีเรียให้มีกำลังแรงขึ้นและแผ่ลงมาทางใต้ปกคลุมถึงประเทศไทย ประกอบกับในช่วงวันที่ 2 - 4 เม.ย. 65 ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญาที่แม้จะมีกำลังอ่อน แต่ก็มีผลกระทบต่ออุณหภูมิของประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงและมีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูร้อนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. 54 มาแล้ว โดยในปี 54 นั้นดัชนี AO มีค่าเป็นลบต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของเดือน มี.ค. ซึ่งกินระยะเวลามากกว่าในปีนี้
นอกจากนี้การที่อุณหภูมิลดลงมากในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น ส่งผลให้ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ปรับตัวไม่ทันจะรู้สึกหนาวเย็นกว่าอุณหภูมิอากาศตามปกติ และอากาศเย็นเมื่อปะทะกับอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เดิมยังทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นด้วย