"ของแพง" แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวโอดแบกรับภาระ ซอส-ก๊าซหุงต้ม พาเหรดปรับขึ้นราคา

"ของแพง" แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวโอดแบกรับภาระ ซอส-ก๊าซหุงต้ม พาเหรดปรับขึ้นราคา

"ของแพง" แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวโอดแบกรับภาระ ซอสปรุงอาหาร-ก๊าซหุงต้ม พาเหรดปรับขึ้นราคา กระทบการดำรงชีพของประชาชนวอนรัฐช่วยดูแล

สถานการณ์ "ของแพง" ภายหลังจากที่ นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย ออกมาเปิดเผยว่า ในเดือน เมษายน 2565 นี้ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการและบางยี่ห้อ เช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ผงซักฟอก เป็นต้น แจ้งปรับราคาขึ้น 10% ทั้งที่เป็นราคาขายส่งถึงยี่ปั๊วและราคาขายส่งถึงผู้บริโภค

 

 

อีกทั้งกระทรวงพลังงานปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กิโลกรัมละ 1 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มขยับจาก 318 บาท เป็น 333 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน 2565

 

ทั้งนี้ "ของแพง" โดยการปรับขึ้นตามขั้นบันไดดังกล่าวยังไม่สะท้อนต้นทุนแท้จริงซึ่งสูงกว่าราคาที่กำหนด สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของประชาชน รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องปรับตัวแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์อีกด้วย

 

 

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ตั้งอยู่บนถนนมัธยมจันทร์ อ.เมือง จ.สกลนคร โดยสอบถามกับนางกัญญาณัฐ อุดมโชติวัฒน์ อายุ 55 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวดังกล่าว ถึงผลกระทบจากสินค้าอุปโภคบริโภคและก๊าซหุงต้มที่ทยอยปรับราคาขึ้น

 

ซึ่งร้านก๋วยเตี๋ยวของนางกัญญาณัฐได้รับผลกระทบทางตรงเพราะวัตถุดิบ เช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ที่ปรับราคาขึ้น 10% แม้แต่กระทั่งก๊าซหุงต้มที่ต้องใช้วันละ 1 ถัง 15 กิโลกรัมต่อวัน เดิมที 1 ถัง 15 กิโลกรัม ถังละ 450 บาท ตอนนี้ปรับขึ้นมาเป็นถังละ 490 บาท ปัจจุบันหันมาใช้วิธีการนำถังก๊าซหุงต้มไปเติมเองที่สถานนีบริการครั้งละหลาย ๆ ถังเพื่อประหยัดต้นทุน

 

นางกัญญาณัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ต้องแบกต้นทุนเฉพาะเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงและเส้นต่างๆ จากเดิมประมาณ 10,000 บาทต่อวัน เฉลี่ยเพิ่ม 13,000 บาทต่อวัน เงินจำนวนนี้ไม่รวมค่าแรงและค่าเช่าที่ ซึ่งรายรับรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน แม้ว่าสินค้าทุกอย่างพาเหรดปรับราคาขึ้นและไม่มีทีท่าจะลดลง ตนก็ยังยืนยันจะขายก๋วยเตี๋ยวในราคาถ้วยละ 40 บาทเช่นเดิม

 

ข่าวโดย ชรินทร์ทิพย์ เตชะนิธิโชติ จ.สกลนคร