“โรงเรือนอีแวปอัจฉริยะ” ลงทุนหลักหมื่น คุ้มค่าระยะยาว
“โรงเรือนอีแวปอัจฉริยะ”
ลงทุนหลักหมื่น คุ้มค่าระยะยาว
เทคโนโลยีโรงเรือนอีแวป เป็นโรงเรือนที่สามารถลดความร้อนในโรงเรือน และช่วยป้องกันแมลง ขนาดเล็กได้ค่อนข้างดี แต่โรงเรือนอีแวปโดยทั่วไปจะควบคุมการปิดเปิดพัดลมและปั๊มน้ำโดยคน และบางแห่งใช้การควบคุมอัตโนมัติแบบง่ายๆ เช่น ใช้อุณหภูมิควบคุมทำให้โรงเรือนในช่วงกลางคืนมีความชื้นสูงเกินไปจนพืชเป็นโรคง่าย
จากปัญหาดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรจึงได้พัฒนาโรงเรือนอีแวปอัจฉริยะขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา โดยดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกรมวิชาการเกษตร ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เพื่อจัดทำแปลงเรียนรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะในพืชเศรษฐกิจ และโรงเรือนอัจฉริยะสำหรับพืชต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2564 -2565 สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมได้ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี (สวพ.6) จัดทำโรงเรือนอีแวปอัจฉริยะต้นแบบ ณ ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ภายใต้โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะของกรมวิชาการเกษตร โดยมีนายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม เป็นหัวหน้าโครงการ และได้ขยายต้นแบบมาที่สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรุงเทพฯ
สำหรับข้อแตกต่างของโรงเรือนอีแวปอัจฉริยะกับโรงเรือนอีแวปทั่วไปคือ โรงเรือนอีแวปอัจฉริยะจะใช้โปรแกรมสมองกลฝังตัวควบคุมแทนคน ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต หรือ IoT ในการควบคุม แต่อาจใช้เสริมเพื่อการอ่านค่า บันทึกข้อมูล ดูภาพจากกล้อง และเพื่อเตือนภัย ใช้เซนเซอร์วัดค่าอุณหภูมิภายในโรงเรือน และความชื้นสัมพัทธ์ภายในและภายนอกโรงเรือน ส่งเข้าสู่บอร์ดสมองกลฝังตัวเพื่อประมวลผลตามสมการควบคุมที่ชาญฉลาด เพื่อไปควบคุมพัดลม ปั๊มน้ำแผงความเย็น และม่านพรางแสงอย่างแม่นยำตลอดเวลา
ส่งผลให้โรงเรือนอีแวปไม่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงหรือต่ำเกินไป โดยเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Matlab Simulink ซึ่งเป็นภาษาสมองกลฝังตัวเชิงกราฟิก และจอแสดงผลแบบตัวเลข LED ทำให้ง่ายต่อเกษตรกรในการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนการเกษตรไทยเข้าสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะอย่างแท้จริง
ขณะที่โรงเรือนอีแวปอัจฉริยะมีข้อดีเช่นเดียวกับโรงเรือนอีแวปทั่วไป ได้แก่ ลดการใช้สารเคมีป้องกันแมลง และผลผลิตไม่เสียหายในหน้าฝน แต่โรงเรือนอีแวปอัจฉริยะมีความพิเศษกว่าคือ ช่วยลดโรคพืชที่เกิดจากความชื้นสัมพัทธ์สูงเมื่อเทียบกับโรงเรือนอีแวปทั่วไป ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง และช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน จากไม่ต้องใช้คนในการควบคุมโรงเรือน
ทั้งนี้ในการดัดแปลงโรงเรือนอีแวปทั่วไปให้เป็นโรงเรือนอัจฉริยะ ที่สำคัญต้องลงทุนค่าเซนเซอร์ สมองกลฝังตัว ตู้ควบคุมไฟฟ้า และค่าติดตั้งราว 50,000 บาท แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทร 0-2940-5791