EXIM BANK เตือนผู้ส่งออกปรับตัวรับมือกติกาการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อม
EXIM BANK เตือนผู้ส่งออกปรับตัวรับมือกติกาการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อม
เมื่อกติกาการค้าโลกยุคใหม่มุ่งเน้นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เห็นได้ชัดจากกรณีมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่จะเริ่มใช้กับสินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย ก่อนจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2569
นอกจากนี้ กฎระเบียบสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Products Regulation : EUDR) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าในกลุ่ม โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ไม้และกระดาษ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง ต้องลงทะเบียนแจ้งข้อมูลการผลิตทั้งระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าในระบบการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์หรือไม่ ก่อนจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2567
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายประเทศได้เตรียมออกมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันมีมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกรวมแล้วราว 17,000 มาตรการ และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วงปี 2553-2564 ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ละรายย่อย รวมทั้งที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทั่วโลกต้องปรับตัวมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืน
ขณะที่ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า หากพิจารณาจาก 10 อันดับประเทศที่ใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้าคือ EU สหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน แคนาดา ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลีใต้ ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ พบว่ามีสัดส่วนการส่งออกของไทยถึง 56.22% ที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต
“ผลจากการเพิ่มระเบียบการค้าใหม่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงแรกไม่มากนัก แต่ในระยะยาวจะส่งผลมากเพราะในช่วงแรกระเบียบการค้าบังคับใช้กับสินค้าไม่กี่กลุ่ม แต่ผลที่สุดแล้วจะขยายไปยังกลุ่มสินค้าที่หลากหลายทั้ง Supply Chain ตลอดห่วงโซ่การส่งออกด้วย ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่เร่งปรับตัวจะลำบากในอนาคต” ดร.รักษ์ กล่าว
ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องเร่งปรับตัว เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเงินทุน โดยต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจของตัวเองมี Carbon Footprint คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดเท่าไร การประเมินต้องใช้หน่วยงานกลาง
“เรามีแผนจะร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการให้ความรู้และคำแนะนำในการประเมินการปล่อย Carbon ให้แก่คนตัวเล็กโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นพันธกิจของ EXIM BANK ในบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย และประกาศเจตนารมณ์สู่การเป็น Green Development Bank มีเป้าหมายชัดเจนที่จะผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance : ESG) ทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ดร.รักษ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการรายใหญ่จะปรับตัวเองให้เข้ากับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่นานาประเทศออกมาจนได้รับการรับรองแล้ว แต่ในระยะต่อไปหากคู่ค้าใน Supply Chain ของผู้ประกอบการรายนั้นไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับมาตรการใหม่ได้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้คือทำให้ลูกค้าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดด้วย Ecosystem ของเขาเองซึ่งต้องจูงใจด้วยการให้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าหากผู้ประกอบการสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก
ด้านนายถาวร เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ไทย แสน็ค ฟู้ดส์ จำกัด เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้อง Green ตามระเบียบการค้าโลกใหม่ที่เริ่มแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ปรับตัวก็จะเจอกำแพงภาษีหากต้องการส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศ ดังนั้นหากเตรียมตัวเริ่มทำตั้งแต่วันนี้น่าจะดีกว่า ค่อย ๆ ก้าวไปทีละขั้นและทำในสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อนจะได้ไม่เป็นภาระมาก
“สำหรับบริษัทของเราขณะนี้เริ่มจากการเก็บข้อมูลตัวเลขว่าได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ และเริ่มปรับตัวด้วยการติดตั้ง Solar Rooftop โดยขอสินเชื่อจาก EXIM BANK ได้รับดอกเบี้ยพิเศษเพียง 2% ซึ่งถือว่าช่วยลดต้นทุนให้ SMEs ได้มาก การที่เราปรับตัวเองโดยมีเป้าหมายที่จะ Go Green เป็นเพราะบริษัทผลิตขนมส่งออกตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย และในอนาคตบริษัทสนใจจะขยายตลาดไปยังสหภาพยุโรป (EU) จึงสนใจศึกษากฎระเบียบมาตรฐานการค้าใหม่ของ EU ด้วย” นายถาวร กล่าว
EXIM BANK พร้อมเติมเงินทุนให้ผู้ประกอบการที่มีโครงการหรือทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่น สินเชื่อ EXIM Green Start เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ (SML) และทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 200 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 4.5% (Prime Rate -2.25%) ต่อปี
สินเชื่อ Solar Orchestra วงเงิน 100% ของเงินลงทุน ดอกเบี้ยต่ำสุด 4% ต่อปี (Prime Rate -2.75% ต่อปี) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating สำหรับใช้ภายในกิจการ รวมถึงเงินลงทุน สำหรับปรับปรุงหลังคาก่อนการติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมได้สิทธิการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตตลอด 7 ปี ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัล International Innovation Awards 2022 และ Best Product Innovation for Sustainable Development
สินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก (EXIM Export Ready Credit) วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นต่ำสุดคือปีที่ 1 คิดดอกเบี้ย Prime Rate -2% ต่อปี และปีที่ 2 ถึงปีที่ 5 ดอกเบี้ย Prime Rate -1% และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีในปีแรก
สินเชื่อ EXIM Solar D-Carbon Financing สนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ว่าจะเป็น Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อโครงการ ดอกเบี้ยต่ำสุด 4.25% ต่อปี (Prime Rate -2.50% ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี เบิกกู้ 90% ของเงินลงทุน พิเศษ! รับสิทธิการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิต “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER)”
“EXIM BANK มีหมุดหมายที่ชัดเจนว่า พร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง โดยใช้กลยุทธ์เติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุน ให้เกิดธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์ความรู้ในด้านการจัดการคาร์บอน โดยการสานพลังระหว่าง EXIM BANK กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจที่สนับสนุนความยั่งยืน อันจะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้เร็วที่สุด” ดร.รักษ์ กล่าว