นายกฯ เยี่ยมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ
30 พ.ย. 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายจักรินทร์ สิรินทรภูมิ นายอำเภอดอยสะเก็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีหลักการพัฒนาแบบองค์รวม “ต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทางเป็นประมง ระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม” เพื่อฟื้นฟูป่าไม้และส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 8,500 ไร่ มีหน่วยงานปฏิบัติงานในพื้นที่จาก 2 กระทรวง 9 กรม ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (7 กรม คือ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2 กรม คือ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) รวมทั้งมีความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าตามแนวพระราชดำริ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2525 โดยเปลี่ยนป่าเต็งรังที่เคยครอบคลุมพื้นที่ถึง 80% ให้กลายเป็นป่าเบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเป็น 64% ในปี 2567
นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเป็นแหล่งทดลองและวิจัย โดยมีโครงการที่ประสบความสำเร็จแล้ว 267 โครงการ และนำผลสำเร็จไปจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม 32 หลักสูตร ขยายผลไปสู่ชุมชน ซึ่งในปี 2567 มีประชาชนเข้ารับการอบรมกว่า 1,000 ราย และมีผู้สนใจศึกษาดูงานกว่า 21,000 คน
อนึ่ง ศูนย์ฯ ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง 44 รายการ สะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชุมชนและสร้างความยั่งยืนให้แก่ท้องถิ่น การเยี่ยมชมศูนย์ฯ ในครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ