บ้าห้าร้อย ไม่เท่าบ้าสะสม
สะสมของเรื่อยเปื่อย จนบ้านแทบจะเป็นกองขยะ แบบนี้ไม่ธรรมดา อาจอยู่ในขั้นป่วยทางจิต
ลองดูสิว่า การสะสมของแบบไหน สร้างปัญหาให้ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม...
ถ้าสะสมแสตมป์ จาน ชาม ถ้วย แจกัน วัตถุโบราณ บัตรคอนเสิร์ต กล้องฯลฯ แล้วจัดหมวดหมู่ ตั้งโชว์ไว้อย่างเป็นระเบียบ...
แบบนี้เรียกว่า ปกติ
แต่ถ้าสะสมของไร้สาระ เพียงแค่ไม่อยากทิ้ง ตั้งแต่ ถุงพลาสติก หมอนเน่า จานชามแตก หรืออะไรก็แล้วแต่ ผสมปนเปเหมือนกองขยะ บางชิ้นขึ้นรา บางชิ้นเก็บมาตั้งแต่เด็กจนแก่ เพราะคิดว่า เป็นของรักของหวง เห็นมาตั้งแต่ลิืมตาดูโลก
ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ธรรมดา...
“แม่เก็บทุกอย่าง ของพรีเมี่ยม ขวดไวน์ จุกก็อก กล่องของขวัญ ถุงกระดาษ ถุงพลาสติก เครื่องปรุงรสหมดอายุ จานแก้วแจกฟรี กะละมังแตก เราก็แอบเอาไปทิ้งบ้าง บริจาคบ้าง วันไหนแม่จับได้ก็ทะเลาะกัน”
........................
“เคยแพ้ผ้าห่มเน่าที่พ่อเก็บไว้ 60 ปีแล้ว เพราะเป็นผ้าผืนที่ย่าเย็บให้นอนตั้งแต่เด็ก เปื่อยเน่าหมดสภาพ บ้านพ่อยังมีของเต็มบ้าน ส่วนใหญ่ทิ้งไม่ได้ พอลูกเอาไปทิ้ง ก็เก็บมาใหม่ จนทะเลาะกัน สุดท้ายลูกต้องแยกไปอยู่คอนโด”
. ..................
“ป้าอายุเกือบ 70 ชอบเก็บสะสมทุกอย่าง ไม่ยอมทิ้ง ไม่ได้เก็บเป็นระเบียบ อยากวางตรงไหนก็วาง ทำให้บ้านรก เต็มไปด้วยข้าวของที่ยังใช้ได้และใช้ไม่ได้แล้ว รวมถึงสิ่งของที่ไม่เคยนำมาใช้เลยหลายปี ตอนเก็บบ้าน เก็บขยะใส่ถุงดำขนาดใหญ่ได้ 5 ถุง เฉพาะถุงพลาสติกที่พับไว้ 1 ลัง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ขวดกาแฟ กล่องใส่รองเท้า ก็มีเยอะฯลฯ”
...................
3 เรื่องเล่าจากเว็บไซต์พันทิป
...........................
“เพื่อนคนหนึ่งเลี้ยงแมวในห้องนอน กิน นอนอยู่ด้วยกันหลายสิบปี ตอนนี้เป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ จมูกรับกลิ่นไม่ได้แล้ว ตอนเราไปหา ก็ไม่กล้าเข้าไปนั่งคุยในห้อง กลิ่นเหม็นมาก ตัวเขาก็มีแต่ขนแมว และชอบพูดเรื่องแมว ซ้ำๆ ซากๆ มีเงินก็เอาไปรักษาแมว " ลิ่ว สิงห์สนั่น เล่าถึงเพื่อนของเธอ
..................................
“คนข้างบ้าน ชอบเลี้ยงสุนัข แล้วเอาอุจจาระมันใส่ถุงพลาสติกแขวนไว้ตามต้นไม้ มีสุนัขเป็นสิบๆ ตัว เห่าหอนรบกวนชาวบ้าน คนข้างบ้านก็อยากย้ายบ้านหนี ทนไม่ไหวต้องแจ้งความตำรวจ แต่ก็จัดการอะไรไม่ได้มาก" หญิงสาวไม่เปิดเผยนาม เล่า
ตัวอย่างเหล่านี้ หลายคนคงเคยรับรู้เรื่องราวมาบ้าง แต่ยังมีแปลก และแตกต่างมากกว่านี้ สิ่งของบางอย่างอาจเป็นของเน่าเหม็น หรือ บางคนแทบจะนอนบนกองขยะเลยทีเดียว แต่ก็เลือกที่จะไม่ทิ้งของที่สะสมมานานหลายสิบปี
-1-
ว่ากันว่า คนที่ชอบเก็บ ไม่ชอบทิ้ง ถ้าเป็นนักสะสมจริงๆ จะเก็บเฉพาะของรักของหวง โดยจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคชอบเก็บสะสมของ กับ การเป็นนักสะสมของรักของหวง มันต่างกัน เนื่องจากคนกลุ่มหลังจะมีเป้าหมายในการสะสม และเก็บเฉพาะของหายาก หรือของที่มีคุณค่าทางจิตใจ ที่สำคัญคือเก็บอย่างเป็นระเบียบ
แต่สำหรับคนที่ชอบเก็บสะสมของไว้จนล้นบ้าน และบางทีกลายเป็นกองขยะ คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ เพิ่งอยู่ในเกณฑ์การวินิจฉัยทางจิตเวชว่า เป็นโรคชอบเก็บสะสมของ (Hoarding disorder) โดยมีคนแบบนี้ประมาณ 2-5 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป
แม้ข้อมูลส่วนใหญ่จะบอกไว้ว่า มักจะเป็นคนโสด แต่ไม่ใช่ว่าคนมีครอบครัวจะไม่เป็น และคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักจะเป็นตั้งแต่วัยรุ่น และเป็นไปตลอดชีวิต
สิ่งของที่พวกเขาชอบเก็บสะสมที่พบบ่อย มีตั้งแต่ หนังสือ ถุงพลาสติก เสื้อผ้า หมอน ผ้าห่ม เครื่องไฟฟ้าชำรุด โดยคนกลุ่มนี้จะเก็บมากกว่าคนทั่วไป อาจกองไว้เต็มห้อง เต็มตู้ เต็มบ้าน
และไม่ได้จำกัดแค่เก็บสะสมของ ยังรวมถึงคนที่ชอบเลี้ยงสิ่งมีชีวิต โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขาและคนรอบข้าง บางคนชอบเลี้ยงหมาแมวเป็นสิบยี่สิบตัวไว้ในบ้าน ปล่อยให้พวกมันถ่ายและฉี่ไม่เป็นที่เป็นทาง รวมถึงปล่อยให้มันเห่าหอน และมีกลิ่นรบกวนคนในบ้านและเพื่อนบ้าน
คนเหล่านี้จะค่อยๆ สะสมสิ่งของและสัตว์เลี้ยงเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาจะไม่รู้สึกว่า ตัวเองป่วย หรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ทั้งๆ ที่สิ่งของที่สะสมเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค
-2-
คงจะเป็นเรื่องยากที่จะสำรวจว่า คนที่ป่วยเป็นโรคชอบเก็บสะสมของ มีมากน้อยเพียงใด เพราะส่วนใหญ่ไม่นิยมไปหาหมอ และมักจะคิดว่า ไม่ได้ป่วย
“ในเมืองไทยยังไม่การสำรวจตัวเลขคนที่เป็นโรคนี้ชัดเจน ซึ่งคนที่เป็นโรคนี้มีหลายรูปแบบ ที่เห็นในสังคมไทยเป็นข่าว ก็คงเรื่องสะสมของจนเป็นกองขยะ” นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทยฺ์ และโฆษก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าว และบอกว่า
“โรคนี้เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง เพราะคนพวกนี้จะชอบเก็บสะสมของไว้มากๆ และไม่กล้าทิ้ง คิดว่า สิ่งของเหล่านั้นสำคัญ ทั้งๆ ที่วิธีการสะสมแบบนั้นรบกวนการใช้ชีวิต อาจเกิดอุบัติเหตุ และแหล่งแพร่พันธุ์เชื้อโรค ซึ่งคนเป็นโรคนี้มีอยู่ทั่วโลก เคยมีเหมือนกันที่สะสมไว้จนเกิดอุบัติเหตุ กองของที่สะสมไว้ล้มทับ และบางทีก็ทำให้ป่วยเป็นภูมิแพ้ ยิ่งสะสมมากอาการของโรคก็เพิ่มมากขึ้น วิธีการเก็บที่จะสร้างปัญหาให้ชีวิตก็คือ เก็บไม่เป็นหมวดหมู่ เสมือนเก็บขยะไว้ในบ้าน”
เท่าที่ผ่านมาข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้มีไม่มาก แต่มีข้อมูลบางอย่าง บอกไว้ว่า เป็นโรคทางพันธุกรรมร้อยละ 50 และอีกสาเหตุคือ มีภาวะสมองเสื่อม จึงมีผลต่อการคิดและการตัดสินใจ ทำให้สิ่งของที่สะสมรบกวนจิตใจและการดำเนินชีวิต
ว่ากันว่า คนที่เป็นโรคนี้ นอกจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพแล้ว ยังมีอาการทางจิต ทั้งเรื่องย้ำคิดย้ำทำ พบว่า หนึ่งในสามของคนที่มีอาการดังกล่าว เป็นโรคชอบเก็บสะสมของ รวมถึงคนที่มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และกลัวการเข้าสังคม
เพราะปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะมีนิสัยยึดติดในสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะทิ้งสิ่งของเหล่านั้น
หากรู้ัจักทิ้งให้เป็น บ้านก็จะไม่รก แม้ที่ คนโด มาระเอะ เขียนไว้ในหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว
“ถ้าคุณลังเลที่จะทิ้งของชิ้นใด ให้เก็บของชิ้นนั้นไว้ในกล่องเก็บของที่จะทิ้ง หากไม่ได้ใช้ใน 3 เดือน และเมื่อครบ 3 เดือนแล้ว คุณไม่ได้ใช้มันจริงๆ ก็ตัดใจโยนทิ้งไปได้เลย”
อย่างไรก็ตาม ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะให้ัความสำคัญกับการจัดวางสิ่งของอย่างเป็นระเบียบ และเห็นว่า การเก็บสะสมสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไว้นานจนลิืม จะทำให้ัคนๆ นั้นไม่มีอิสรภาพในการใช้ชีวิต
“การจัดบ้านคือ การจัดระเบียบจิตใจ ส่วนการทำความสะอาดคือ การทำจิตใจให้สงบนิ่ง”
โดยแนวคิดของคนโด จะเน้นว่า ถ้าสิ่งของที่สะสมไว้ไม่ปลุกเร้าความสุขให้คนๆ นั้น ก็ให้ทิ้งมันไป..
-3-
การทิ้งสิ่งของ จึงสวนทางกับ การสะสม
คุณหมออภิชาติ บอกว่า คนที่เป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของในแบบที่เรากล่าวถึง สาเหตุน่าจะมาจากพันธุกรรม มีพ่อแม่และญาติที่ชอบเก็บสะสม ยิ่งบางคนที่มีพ่อแม่ชอบสะสมของ และตัวเองก็ชอบแบบนั้นด้วย อาการก็จะเป็นเยอะขึ้่น และอีกกรณีคือ มีปัญหาสมองบกพร่อง
"คนเหล่านี้ไม่ค่อยมาหาหมอ เพราะเขาคิดว่าตัวเองไม่ได้ป่วยหรือเป็นโรคอะไร พวกเขามีความคิดว่า สิ่งของที่เก็บไว้จะได้ใช้ในอนาคต แต่คนกลุ่มนี้จะมาหาหมอ เพราะญาติพามา และส่วนใหญ่ป่วยจากสาเหตุอื่น อาจเป็นภูมิแพ้ ส่วนใหญ่อาการหนักเบาไม่เท่ากัน มีคนสงสัยเหมือนกันว่า อาการแบบนี้จะเหมือนคนที่ีชอบสะสมแสตมป์ หรือนักสะสมไหม
“จริงๆ แล้วต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการสะสมแสตมป์ ภาพเขียน วัตถุโบราณ พวกเขาจะเลือกสะสมเฉพาะอย่าง อาจเป็นการเก็งกำไรหรือทำเพื่อลงทุน แต่คนที่ชอบสะสมของที่ไม่มีมูลค่าหรือไม่มีประโยชน์อะไรเลย จะสะสมพวกหนังสือพิมพ์ ของเหลือใช้เป็นขยะ เพราะไม่กล้าทิ้ง ถ้าทิ้งก็จะกังวลใจและเครียด ยิ่งถ้ามีคนเอาสิ่งของเขาไปทิ้ง เขาจะกังวลมาก จนทะเลาะกัน”
ถ้าคนรอบข้างพบเห็นคนเป็นโรคแบบนี้ และสร้างปัญหาให้ครอบครัวและสังคม คุณหมอแนะว่า ให้ลองปรึกษาหมอสายด่วนสุขภาพจิต ถ้ามีปัญหาเยอะ ก็อย่าไปตำหนิหรือด่าทอคนๆ นั้น ควรเริ่มจากพูดคุยอย่างเห็นอกเห็นใจ ถ้าพูดด้วยเหตุผลแล้ว คนๆ นั้นควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็ค่อยแนะนำให้มาพบแพทย์
“วิธีบำบัดใช้สองอย่างคือ ใช้ยารักษาในกรณีคนไข้กังวลและเครียดสูง เมื่อต้องทิ้งของที่ีสะสมมาทั้งชีวิต ส่วนอีกแบบคือ การใช้พฤติกรรมบำบัด โดยออกแบบให้เหมาะกับบุคคลนั้น เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่พึงประสงค์”คุณหมออภิชาติ กล่าว