'พอกันที'ความรุนแรงนอกวิถีประชาธิปไตย
"กิตติชัย งามชัยพิสิฐ" "พอกันที"ความรุนแรงนอกวิถี ประชาธิปไตย
ยุทธการ "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ" ที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กำลังขับเคลื่อนอยู่ในตอนนี้ ด้านหนึ่งเป็นมาตรการที่สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลโดยตรง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือน "บูมเมอแรง" คือขว้างไปยิ่งแรงยิ่งกลับมาเร็ว
ยาแรงของ กปปส.ได้ปลุกให้ผู้คนที่อึดอัดกับ "ระบอบทักษิณ" ลุกขึ้นสู้อย่างเต็มตัว แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ฝ่ายที่ชูธงเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เริ่มจะหมดความอดทน และปรากฏกายออกมาเคลื่อนไหว หวังจะดึงกระแสให้กลับเข้าสู่ลู่ของการเลือกตั้ง หลังถูกกปปส.พาหลุดโค้งไปไกล
"กิตติชัย งามชัยพิสิฐ" หรือที่นักกิจกรรมทางสังคมรู้จักกันในนาม "อ้วน YT" (youth training center) เป็นคนแรกๆ ที่ก้าวออกมายืนท้าทายคลื่นขบวนของมวลมหาประชาชน ด้วยคำขวัญที่สะท้อนอารมณ์ออกมาตรงๆ คือ "พอกันที" กับกิจกรรมสวมเสื้อขาว จุดเทียน พร้อมจุดยืน "We Vote"
เป็นที่รู้กันในหมู่เอ็นจีโอว่า "อ้วนYT" เป็นนักเคลื่อนไหวประเภท "งานเย็น" คือจับงานด้านการฝึกอบรมสัมนาเป็นหลัก การโดดออกมาเคลื่อนงานร้อนๆ ที่อิงกับสถานการณ์การเมืองเข้มข้นแบบนี้จึงน่าจับตา ยิ่งการออกมายืนโดยประกาศว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองแบ่งฝ่ายเป็นขั้วเป็นข้างอยู่ขณะนี้ ยิ่งน่าค้นหาว่าตกลง "กลุ่มพอกันที" ยืนอยู่ตรงกลางหรือแท้ที่จริงแค่ "เสื้อแดงย้อมสีขาว" ชั่วคราวเท่านั้น
กิตติชัย ยอมรับว่า วันนี้มี "คนเสื้อแดง" เข้ามาร่วมจุดเทียนไม่น้อย ปฏิเสธไม่ได้ เพราะคนเสื้อแดงที่ไม่ขึ้นกับ นปช.ก็มี แต่เป็นแดงอิสระมีมากมาย แม้แต่ตนก็ยังเคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เข้าร่วมในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองให้เราได้ไปแสดงออก แต่ไม่จำเป็นต้องสังกัดทั้งสองสี กลุ่มที่ใส่เสื้อขาวก็เช่นกัน เป็นเพื้นที่ของคนที่ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมืองมาแสดงพลังกัน
"ส่วนคนเสื้อแดง หรือ นปช.ที่ประกาศว่าจะหันมาสวมเสื้อขาวเคลื่อนไหวครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธีครั้งใหญ่ แทนที่พวกคุณจะสวมเสื้อสีเดิมแล้วยืนยันกับสังคมว่าคนเสื้อแดงมีความสันติ สงบ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสีเสื้อมาใส่สีขาว"
กิตติชัย อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว "จุดเทียนเขียนสันติภาพ" ว่า เริ่มมาจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง (30 พ.ย.ต่อเนื่อง 1 ธ.ค.56) ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เมื่อ 26 ธ.ค.56 และมีเหตุทำร้ายร่างกายคนขับแท็กซี่ได้รับบาดเจ็บที่ถนนวิภาวดีรังสิต จากนั้นก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องมา ซึ่งความรุนแรงทั้งหลายมันไม่ได้เกิดจาก กปปส.อย่างเดียว แต่บางเหตุการณ์ก็ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของใคร มันยั่วยุกันไปกันมา
แต่พอเกิดเหตุรุนแรงก็เกิดปัญหา คือคนก็จะเถียงกันว่าฝ่ายนั้นเป็นคนเริ่ม ฝ่ายนี้ทำฝ่ายนั้นก่อน เป็นบรรยากาศของการตอบโต้กัน ทำให้ไม่สามารถคุยถึงข้อเสนอต่างๆ ที่จะเป็นทางออกของบ้านเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปหรือการเลือกตั้ง
"กลุ่มเราต้องการส่งสัญญาณว่าขอให้หยุดความรุนแรงเหล่านี้ให้ได้ก่อน เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว มีคนบาดเจ็บล้มตาย มันยังอาจจะเปิดทางให้อำนาจขนาดใหญ่อาศัยช่วงนี้เข้ามาหยุดความรุนแรงให้ หมายถึงอาจจะเป็นเงื่อนไขปฏิวัติรัฐประหาร อย่างปี 2549 ทหารก็บอกว่าไม่อยากให้เกิดการสูญเสียมากไปกว่านั้น จึงต้องออกมายึดอำนาจ"
"ผมก็เลยอยากบอกถึงคนที่ต้องการใช้ความรุนแรงก้าวเข้าสู่อำนาจ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะอยู่ใน กปปส.หรืออยู่ในกลุ่มคุณทักษิณ หรืออำนาจนอกระบบว่า ประชาชนไม่ต้องการ ผมจึงคิดว่าตอนนี้เราเดินตามกติกาไปก่อน คือเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วค่อยใช้กระบวนการประชาธิปไตยกดดันให้เกิดการปฏิรูปสังคม"
กิตติชัย บอกด้วยว่า กลุ่มพอกันทียังคงกระจายตัวกันไปผูกผ้าขาวตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านความรุนแรงจากทุกฝ่าย
นี่คือวิถีความคิดของแกนนำ "กลุ่มพอกันที" ซึ่งแม้จะเป็นแนวทางที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าในยามที่บ้านเมืองเข้าสู่โหมดสงคราม เสียงของสันติภาพมักจะแผ่วเบาจนแทบไม่ได้ยิน...
กว่าจะรู้ตัวว่าควร "พอกันเสียที" ก็อาจสายเกินไป...