'รอมแพง' จ่อแจ้งความเอาผิดมือโพสต์-แชร์ หนังสือ 'บุพเพสันนิวาส'
รองโฆษกตร. เผย "รอมแพง" เจ้าของลิขสิทธิ์ "บุพเพสันนิวาส" เตรียมเอกสารพร้อมหนังสือมอบอำนาจ แจ้งความเอาผิดมือโพสต์-แชร์ หนังสือ 9 มี.ค.นี้
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. กล่าวถึงกรณีที่ผู้เขียนนามปากกา "รอมแพง" แจ้งความร้องทุกข์พร้อมเรียกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์นิยาย “บุพเพสันนิวาส” กับผู้ที่คัดลอกสำเนานวนิยายดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสื่อออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ว่า ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ว่าบริษัท แฮปปี้ บานานา จำกัด
โดยนางสาวกวิยา เนาวประทีป ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯ ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในงานวรรณกรรม (หนังสือบุพเพสันนิวาส) ในการผลิต และจัดจำหน่ายหนังสือ ตลอดทั้งได้รับมอบอำนาจในการปกป้องลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม (หนังสือบุพเพสันนิวาส) มาจากนางสาวจันทร์ยวีร์ (หรือนางสาวเกศณี ) สมปรีดา เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยผู้เสียหายได้มีการตรวจสอบทางสื่อสังคมออนไลน์ (เฟชบุ๊ค) พบว่ามีผู้กระทำความผิดซึ่งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง และนำเอางานวรรณกรรม (หนังสือบุพเพสันนิวาส) ของผู้เสียหายไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสื่อออนไลน์ดังกล่าวข้างต้น โดยในเบื้องต้นทางผู้เสียหายแจ้งว่าจะรวบรวมพยานเอกสารที่พบจากสื่อออนไลน์และตรวจสอบให้ละเอียดและครบถ้วนพร้อมหนังสือมอบอำนาจเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 มี.ค.2561
สำหรับข้อหาความผิดของผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ในเรื่องดังกล่าวแบ่งเป็น 1.ผู้โพสต์ มีความผิดฐาน ทำซ้ำและเผยแพร่ คือ “ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการทำซ้ำดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรม (หนังสือบุพเพสันนิวาส) ”ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช 2537 โทษจำคุก 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท
2.ผู้แชร์ มีความผิดฐาน “ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรม(หนังสือบุพเพสันนิวาส)”ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช 2537 โทษจำคุก 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท
รองโฆษกตร. กล่าวอีกว่า ขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนรับทราบถึงการกระทำ ซึ่งอาจเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทางโซเชี่ยลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอก เผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ใช้บริการทางโซเชี่ยลมีเดีย ต้องระมัดระวังกันมากขึ้น ไม่ได้ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ รวมไปถึงผู้ใช้บริการควรคำนึงถึงการกระทำใดๆ ซึ่งอาจเป็นการเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของ ซึ่งการใช้ในบางลักษณะจะมีข้อยกเว้น แต่มีอีกมากมายที่ถือว่าเป็นการละเมิด