เกษตรอัจฉริยะ-เอไอ แฟลกชิพเนคเทค

เกษตรอัจฉริยะ-เอไอ  แฟลกชิพเนคเทค

เนคเทคผนึกคูโบต้าเปิดตัวปฏิทินเพาะปลูกในรูปแบบโมบายแอพฯ เชื่อมเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ-อัจฉริยะผ่านเอไอ หวังเพิ่มผลผลิตและขีดความสามารถเกษตรกรในตลาดโลก

เนคเทคผนึกคูโบต้าเปิดตัวปฏิทินเพาะปลูกในรูปแบบโมบายแอพฯ เชื่อมเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ-อัจฉริยะผ่านเอไอ หวังเพิ่มผลผลิตและขีดความสามารถเกษตรกรในตลาดโลก

“เราหวังว่าเมื่อเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น จะสนใจอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตรที่เข้าไปช่วยทำงานทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน และช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วตามไทม์ไลน์ที่ระบุไว้ในปฏิทินการเพาะปลูกมากขึ้น เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้แล้วในสมาร์ทโฟนทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์” สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชัน จำกัด กล่าว

บิ๊กดาต้าสู่โมบายแอพฯ

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเนคเทค คือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะนำไปสู่การเกษตรแม่นยำ รวมไปถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและผลผลิตให้กับเกษตรกรไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

โดยร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการสนับสนุนทุนวิจัย และเผยแพร่ผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับกลุ่มเกษตรกร ล่าสุดคือบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชัน จำกัด พัฒนาแอพพลิเคชั่น KAS Crop Calendar ปฏิทินการเพาะปลูกที่จะช่วยเกษตรกรควบคุมการผลิตได้อย่างแม่นยำ ทำให้ได้ผลผลิตตามต้องการ

“4 ปีที่ผ่านมา เราทำบิ๊กดาต้าเรื่องการเกษตรในมุมข้อมูลจากภาครัฐ แต่ปัจจุบันต้องการสร้างบิ๊กดาต้าจากเกษตรกรผ่านทางแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เกษตรกรกรอกแจ้งข้อมูลจะทำให้เห็นปัญหาตรงจุด ที่จะนำไปสู่วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เริ่มต้นจากการให้ความรู้ขั้นตอนการเพาะปลูกตามหลักวิชาการและการเตือนในขั้นตอนต่างๆ คาดหวังว่าเกษตรกรทั่วประเทศจะทดลองใช้ทำให้เราได้ข้อมูลกลับเข้าระบบกลาง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการเพาะปลูกที่ดีที่สุด กลับไปให้เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ”

ปัจจุบันเริ่มนำเทคโนโลยีไปใช้กับเกษตรกรบ้างแล้ว อาทิ การทำระบบเกษตรแม่นยำ การปลูกพืช-สวนทุเรียนที่ระยอง การทำนายผลผลิตไร่อ้อยล่วงหน้าร่วมกับมิตรผล อ.หนองแซง จ.ชัยภูมิ ร่วมกับไอบีเอ็มเพื่อเข้าสู่เกษตรอัจฉริยะในอนาคตด้วยการให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้

ส่วนในปีนี้ตั้งเป้าที่จะขยายแผนงานด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะให้ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านทาง KAS Crop Calendar คูโบต้าจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจริง รวมทั้งโปรแกรมกระตุ้นในรูปแบบของซีเอสอาร์ ทั้งนี้ การใช้แอพฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพราะเอไอและบิ๊กดาต้าจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการส่งข้อมูลออกมาจำนวนมาก และข้อมูลเฉพาะของพืชนั้นๆ หรือแปลงนั้นๆ ก็จะถูกส่งกลับไปยังแอพฯของเกษตรกรเฉพาะจุดนั้นเช่นกัน

ปัจจุบันแอพฯ สามารถตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการเฉพาะแปลง ยกตัวอย่าง Agri-Map สามารถลงลึกถึงระดับหมู่บ้านว่า มีสภาพดิน อากาศ โรคพืช เป็นอย่างไร แจ้งราคาพืชผลทางการเกษตรแบบเรียลไทม์

เสริมขีดความสามารถเกษตรกร

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต สยามคูโบต้าเล็งเห็นความสำคัญของ “ปฏิทินเพาะปลูกข้าว” ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ความรู้สำคัญ โดยทำการพัฒนาแอพฯแสดงปฏิทินการเพาะปลูกที่ให้เกิดผลผลิตมากขึ้น จากเดิมขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ

โดยร่วมมือกับเนคเทคในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น KAS Crop Calendar ซึ่งมีฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก ได้แก่ การแจ้งเตือนสิ่งที่เกษตรกรต้องทำในแต่ละขั้นตอนปฏิทินการเพาะปลูก ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเพาะปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเพิ่มหรือปรับขั้นตอนปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่หรือเทคนิคส่วนตัวได้ ฟังก์ชั่นที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละขั้นตอนปฏิทินการเพาะปลูก แล้วเก็บเป็นข้อมูลและสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มรายรับให้มากขึ้นในการทำการเพาะปลูกครั้งต่อไป

สุดท้ายคือ ฟังก์ชั่นการรายงานสรุปเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปพัฒนาการเกษตรของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าช่วยลดต้นทุน 20% และปริมาณผลผลิตได้ตามเป้าหมายมากขึ้น