ดึงท้องถิ่น-เอกชนลงทุนโรงพยาบาล
สกพอ.เร่งแผนสาธารณสุข ยกระดับสุขภาพประชากรอีอีซี หนุนกระทรวงสาธารณสุข-อปท.ร่วมมือเอกชนลงทุนโรงพยาบาลใหม่ ยึด "ศิริราชปิยมหาราชการุณย์" เป็นต้นแบบ พร้อมผลักดันสร้างโรงเรียนแพทย์ ลดส่งต่อผู้ป่วยไปกรุงเทพฯ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) มีความคืบหน้าทั้ง 5 โครงการ ได้แก่ 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, 2.ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, 3.ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, 4.ศูนย์ซ่อมอากาศยาน 5.การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีตามเป้าหมายที่จะได้เอกชนร่วมลงทุนในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งการพัฒนาหลังจากนี้จะเตรียมแผนเพื่อพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.จะเร่งทำแผนพัฒนาด้านการเกษตรร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแยกเป็นรายคลัสเตอร์ และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนพัฒนาด้านสาธารณสุข ให้กับประชาชนในอีอีซี
สำหรับ การพัฒนาด้านสาธารณสุขมีความคืบหน้ามาก ซึ่งจะรองรับประชากรในอีอีซีที่จะเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.แผนสาธารณสุขพื้นฐานที่ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ นักท่องเที่ยวและแรงงาน ซึ่งจะใช้สิทธิพื้นฐานได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนในอีอีซีจะเป็นผู้รับผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินก่อน จากนั้นจะส่งต่อให้โรงพยาบาลรัฐ เพื่อเพิ่มช่องทางบริการให้ผู้ป่วยมากขึ้น และไม่กระทบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน
นอกจากนี้ บางส่วนต้องร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ โดยใช้รูปแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) จ.สมุทรสาคร รวมทั้งเพิ่มโรงพยาบาลในพื้นที่ขาดแคลน เช่น อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งและมีประชากรกว่า 3 แสนคน แต่มีโรงพยาบาลรองรับเพียง 30 เตียง
ส่งเสริมลงทุนเมดิคับฮับ
2.การรวมกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้มีการทำงานที่สอดคล้องกัน รวมทั้งสร้างระบบให้นักท่องเที่ยวสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเฉพาะทาง 3.แผนการส่งเสริมเมดิคัลฮับ เพื่อให้เกิดธุรกิจด้านการแพทย์ที่ครบวงจรและมีความทันสมัยในอีอีซี
“การพัฒนาอีอีซี จะทำให้มีประชากรและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งทำแผนสาธารณสุขรองรับ เพื่อให้มีหลักประกันด้านสุขภาพที่เข้าถึงบริการได้ตามความจำเป็น และมีสถานพยาบาลรองรับการใช้บริการสุขภาพตั้งแต่บริการพื้นฐานจนถึงบริการขั้นสูง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการรับบริการของประชาชน และทำให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน”
สำหรับการดำเนินการ ด้านความครอบคลุมระบบข้อมูลและระบบประกันสุขภาพ จะพัฒนาระบบข้อมูล และระบบบริหารการประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมทุกคนในพื้นที่ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวและนักท่องเที่ยว โดยไม่รวมกองทุนสุขภาพที่มีอยู่ตามกฎหมาย แต่ใช้แนวคิดสิทธิประโยชน์แบบ 3 ชั้นของคณะกรรมการปฏิรูป โดยมีระบบ Single management/system เพื่อบริหารชุดสิทธิประโยชน์หลัก รวมทั้งการเก็บเบี้ยประกันสุขภาพจากนักท่องเที่ยวทุกคน เพื่อใช้จ่ายในกรณีบาดเจ็บและป่วยฉุกเฉิน
ดันโรงเรียนแพทย์ในอีอีซี
ส่วนการร่วมลงทุนหน่วยบริการทีมีความสามารถทางธุรกิจ จะส่งเสริมการร่วมลงทุนโรงพยาบาลระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชน ในพื้นที่ที่เอกชนมีความพร้อมและประชากรเพิ่มสูงขึ้น โดยให้ออกแบบการบริหารโรงพยาบาลให้คล่องตัวสูงในการดำเนินธุรกิจ รองรับความต้องการพิเศษของประชาชนได้ รวมทั้งเป็นหน่วยธุรกิจในระบบราชการที่หารายได้พึ่งตนเองได้ ซึ่งมีต้นแบบ เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีโรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ ซึ่งทำให้ไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ โดยจะมีขีดความสามารถเทียบเคียงโรงพยาบาลศรีนครินทร์ หรือโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์การแพทย์ รวมทั้งให้มีศูนย์การแพทย์เชี่ยวชาญรองรับโรคจากการท่องเที่ยว โรคที่เกี่ยวข้องกับทางทะเล ภัยพิบัติ โรคจากสิ่งแวดล้อมและการทำงานและการให้บริการ ณ จุดเกิดเหตุด้วยอากาศยาน
ขยายบทบาท สปสช.-สปส.
สำหรับ การบริหารรัฐแนวใหม่และความร่วมมือของเครือข่าย ซึ่งเน้นบทบาทกำกับดูแลและทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการทุกสังกัด เช่น อปท. เอกชน โดยการทำงานเป็นเครือข่ายที่ลดบทบาทการเป็นเจ้าของหน่วยบริการ รวมทั้งส่งเสริมการบริหารแบบอิสระไม่เป็นรูปแบบราชการ และถ่ายโอนบทบาทการเป็นหน่วยประกันสุขภาพ สำหรับกลุ่มเป้าหมายแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผัน ซึ่งยังไม่เป็นผู้ประกันตนไปสู่สำนักงานประกันสังคม
รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบ เช่น การขยายบทบาทการประกันสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้มีข้อมูลและประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรทุกประเภทในพื้นที่
เล็งตั้งบอร์ดคุมบริการสุขภาพ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการพัฒนายกระดับการบริการสาธารณสุขในอีอีซี จะเกี่ยวข้องและต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการในพื้นที่ นอกจากนั้น จะต้องมีองค์กรวิจัยติดตามทิศทางและผลการพัฒนา รายงานผลการประเมินกลับไปยังหน่วยดำเนินการเป็นระยะในลักษณะการวิจัยการดำเนินการ
สำหรับวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาสาธารณสุขนี้ มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนในอีอีซีทั้งไทยและต่างชาติ ได้รับความคุ้มครองด้านการบริการสาธารณสุข ผ่านการมีสิทธิหลักประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์หลักที่จำเป็นที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกัน มีระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประสิทธิภาพและเพียงพอ
รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีผลกระทบต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน และตอบสนองความต้องการประชาชน โดยสร้างความร่วมมือและการลงทุนร่วมกันระหว่างส่วนกลาง ท้องถิ่นและเอกชน