ถึงยังไง.. 'ลุงตู่' ก็เข้าวิน
ชัดถ้อยชัดคำสำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งโพสต์คลิปวีดิโอลงบนเฟซบุ๊ค "ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจ เท่ากับสร้างความขัดแย้ง"
แถมยังขนกรรมการบริหารพรรคมาแถลงข่าวยืนยันอีกว่า ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่ถามว่าคำประกาศของ ปชป. ที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง จะส่งผลให้เกิดการพลิกผันถึงขนาดดับฝันพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ บอกได้เลยว่าไม่ถึงขนาดนั้น แม้ว่าจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งยากขึ้นบ้าง เพราะขาดเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ โหวตสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา
แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ออกแบบไว้แล้วโดยเฉพาะเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ คือ
1.ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีสิทธิลงมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่เคยมีที่ให้ ส.ว. มาร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วย และวุฒิสมาชิกมีจำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกของ คสช. ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงมีเสียงสนับสนุนอยู่ในมือเห็นๆอยู่แล้ว 250 เสียง และ 2. บุคคลที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้เสียงสนับสนุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในบทเฉพาะกาล รัฐสภาประกอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน รวม 750 คน
ทำให้บุคคลที่จะได้เป็นนายกฯต้องได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภา 376 เสียงขึ้นไป ในส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไปหาคะแนนเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรอีก 126 เสียง ก็จะได้ 376 เสียง และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ในบัญชีชื่อนายกฯ ตามโพลล์ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็น่าจะได้ประมาณ 100 ที่นั่งก็หาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นอีกในสภาผู้แทนฯ ประมาณ 26 เสียง มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เป็นนายกฯแล้ว
ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ต้องไปหาคะแนนเสียงในสภาผู้แทนฯถึง 376 เสียง (เพราะไม่มีเสียง ส.ว. 250 เสียง คอยสนับสนุน) บุคคลที่พรรคการเมืองนั้นสนับสนุนจึงจะได้เป็นนายกฯ ซึ่งไม่มีทางหาได้อยู่แล้ว
แต่เมื่อพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถจับมือกับฝั่งพรรคเพื่อไทย และพรรคเครือข่ายได้ ฉะนั้นก็จะเหลือ “ประชาธิปัตย์” เพียงพรรคเดียวเท่านั้น (ไม่นับภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ที่พร้อมร่วมทุกขั้วอยู่แล้ว) นี่คือความสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะกลายเป็น “ตัวแปรที่แท้จริง” หลังการเลือกตั้ง ซึ่งตามโพลล์คาดว่าจะได้ ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์รวมกันประมาณ 100-120 ที่นั่ง แต่หากใครจะตั้งรัฐบาลจะขาดปชป.ไม่ได้เลย
ฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะมีอำนาจต่อรองสูงสุด โดยเฉพาะในฝั่งพลังประชารัฐ เพราะไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปจับมือกับเพื่อไทยได้อยู่แล้ว..ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลเพื่อสกัดพรรคเพื่อไทย ก็ต้องจับมือกับพรรคเล็กอื่นทุกพรรค รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย..และนี่จึงเป็นโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถต่อรองให้ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯแทนพล.อ.ประยุทธ์ได้
หากพรรคพลังประชารัฐไม่ยอม การเมืองก็มีโอกาสติดล็อก ไม่มีฝ่ายใดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เลยทั้งสองฝั่ง และนี่คือแผนลึกของพรรคประชาธิปัตย์กับยุทธศาสตร์พรรคอันดับ 2 ที่ไม่ใช่แค่ร่วมรัฐบาล แต่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯไปพร้อมกันเลย
แต่ยังมีเกมดึงพรรคการเมืองต่างๆ มาสนับสนุนในภายหลัง “งูเห่า” ที่พรรคพลังประชารัฐพร้อมที่จะอ้าแขนรับทุกกลุ่มการเมือง