"ฟิล์มกันรอย" ธุรกิจพันล้าน โตเงียบ !! เกาะสมาร์ทโฟน
“สมาร์ทโฟน” สิ่งที่ขาดไม่ได้ ยุคเทคโนโลยีครองโลก ยอดขายสมาร์ทโฟนพุ่ง ดันธุรกิจ “ฟิล์ม&กระจกกันรอย” โตเงียบ มูลค่าหลาย “พันล้าน” ต่อปี ผ่านคำบอกเล่า เจ้าอาณาจักร ฟิล์มกันรอยเมืองไทย "อมรศักดิ์ แดงแสงทอง"
มีใครบ้างซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ “สมาร์ทโฟน” สุดรักสุดหวงแล้วไม่ติดฟิล์มกันรอย...!!
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน “ธุรกิจฟิล์มกันรอย & ฟิล์มกระจก” กลายเป็นหนึ่งในไอเท็มจำเป็นสำหรับสมาร์ทโฟนของทุกคนไปแล้ว สะท้อนผ่านมูลค่าตลาดรวมของ “อุตสาหกรรมฟิล์มกันรอย” ในไทย ที่สูงเกินระดับ “3,000 ล้านบาท” และทิศทางยังเติบโตต่อเนื่องใน “ระดับ 10%” ทุกปี
สอดคล้องกับ “อุตสาหกรรมจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือ สมาร์ทโฟน ที่มีอัตราการเติบโตทุกปีเช่นกัน โดยไทยถือเป็นตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่เป็น “อันดับ 2” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) โดยมียอดขายสมาร์ทโฟนปี 2561 อยู่ที่ 19.2 ล้านเครื่อง ฉะนั้นธุรกิจฟิล์มกันรอยและกระจกกันรอยจึงเป็นหนึ่งในธุรกิจ “ดาวรุ่ง” ที่แอบซ่อนอยู่ตามการขยายตัวของยอดขายสมาร์ทโฟนในไทย
บริษัทวิจัยคานาลิส (Canalys) เปิดตัวเลขผลสำรวจยอดขายสมาร์ทโฟนในไทย พบว่า ปี 2561 ไทยมียอดขายสมาร์ทโฟนทั้งหมด 19.2 ล้านเครื่อง ลดลง 8.6% แต่ในปี 2562 คาดการณ์ว่า ยอดส่งมอบสมาร์ทโฟนในไทยจะเพิ่มขึ้น 4.1% แรงบวกจากเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง
“มองว่าตลาดสมาร์ทโฟนในไทยจะพลิกเป็นบวกในปีนี้ แม้ว่าจะยังไม่เปิดตัว 5G รูปแบบของสมาร์ทโฟนออกมา และอาจกินเวลานานไปจนปลายปี 2563 แต่ผู้ประกอบการหลายแห่งก็เริ่มทำการตลาด 5G เพื่อเรียกความสนใจของผู้บริโภค ทั้งหมดนี้จะมีความสำคัญต่อความต้องการของผู้บริโภคที่จะฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้”
“อมรศักดิ์ แดงแสงทอง” รองประธานกรรมการฝ่ายการตลาด บริษัท ดีพลัส อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายฟิล์ม และกระจกกันรอย “อันดับหนึ่ง” ของไทย ภายใต้แบรนด์ “Focus” เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า ปัจจุบันตลาดฟิล์มกันรอยและกระจกกันรอยมีขนาดใหญ่ขึ้นมากว่า “100 เท่า” เมื่อเทียบกับเมื่อ 15 ปีก่อน โดยมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจากระดับ “สิบล้าน” มาเป็นหลัก “หลายพันล้าน”
โดยมูลค่าการผลิตและนำเข้าฟิล์มรวมอยู่ที่หลัก “พันล้านบาท” ขณะที่มูลค่าตลาดรวมน่าจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป ปัจจุบันบริษัทภายใต้แบรนด์ Focus มี “ส่วนแบ่งทางการตลาด” (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 60-70% ของตลาดรวม
ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนขาย (เซลล์) ประมาณ 100 กว่าคนทั่วประเทศ ซึ่งเซลล์ของบริษัทเข้าถึงหน้าตู้คู่ค้าทุกวันมากกว่า 1,500 จุดทั่วประเทศ แบ่งเป็นการขายผ่านหน้าร้าน สัดส่วน 95% และลูกค้าที่ซื้อไปติดเองสัดส่วนไม่เกิน 5% จากเมื่อ 5 ปีก่อน ไม่มีลูกค้าที่ซื้อไปติดเอง แต่บริษัทเริ่มเห็นสัดส่วนรายได้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเกิดของ “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” (ค้าออนไลน์) ที่ตอนนี้มีอัตราการเติบโตสูงมากและขยายตัวรวดเร็วมาก
ทว่า เมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดฟิล์มกันรอยโต “คงที่” โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่เกิน 10% ซึ่งหากตลาดฟิล์มจะมีการเติบโตเช่นในอดีตอาจจะต้องขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคในการเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ เหมือนตอนที่ประเทศไทยในช่วงที่เข้าสู่ยุค 3G ส่วนการมาของเครือข่าย 5G ยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่เพื่อรองรับมากแค่ไหน !!เฉลี่ยไทยผู้บริโภคจะเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ประมาณ 2 ปีครั้ง
อย่างไรก็ตาม มองว่าสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ก็ไม่เห็นยอดขายโทรศัพท์มือถือหดแบบฮวบฮาบ !! แต่การตัดสินใจซื้ออาจไม่รวดเร็วเหมือนตอนเศรษฐกิจดีๆ เท่าที่สังเกตทุกครั้งที่ผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์ออกโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ก็มียอดขายโทรศัพท์มือถือเติบโตตลอด
“ธุรกิจเราขึ้นอยู่ที่ยอดขายโทรศัพท์มือถือ ถ้าโทรศัพท์มือถือขายดี ฟิล์มกันรอยและกระจกกันรอยของเราก็เติบโตตามไปด้วย ฉะนั้น ถ้าคนไทยเปลี่ยนมือถือใหม่ถี่มากขึ้น ธุรกิจเราก็มีโอกาสเติบโตเร็วไปอีก”
โดยปัจจุบัน ยอดขายผลิตภัณฑ์กระจกกันรอยโตขึ้นอย่างชัดเจน ตามพฤติกรรมการใช้งาน และความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งแบรนด์ Focus ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบรนด์ผู้นำอันดับ 1 ของตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของมาร์เก็ตแชร์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ทั้งนี้ บริษัทได้เน้นพัฒนา “กระจกกันรอยกลุ่มพรีเมียม” ให้ตอบโจทย์ และตรงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรือธงในธุรกิจของบริษัทในปี 2562 โดยปัจจุบันมีกระจกกันรอยให้เลือกกว่า 15 แบบ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของแบรนด์ Focus ที่ผู้ประกอบการเจ้าอื่นไม่มีรูปแบบที่หลากหลาย อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภค และตัวแทนจัดจำหน่ายมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ส่งผลให้ยอดจัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาตลอด
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟิล์มกันรอยและกระจกกันรอย บริษัทมีการพัฒนาต่อเนื่องตลอด ซึ่งบริษัทพัฒนาฟิล์มและกระจกกันรอยที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ยังทำไม่ได้ เช่น พัฒนาฟิล์มที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าทุกประเภท ปัจจุบันลูกค้าสามารถเลือกฟิล์มกันรอยและกระจกกันรอยที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้งานของแต่ละคนได้
เช่น กระจกกันรอยที่เหมาะสมกับการเล่นเกม โดยเฉพาะ ล่าสุด Focus ร่วมมือกับ Garena online (ประเทศไทย) ผู้ถือลิขสิทธิ์เกม ROV เปิดตัวกระจกกันรอยรุ่นพิเศษ Focus x ROV ในงาน Garena world Unlock Your Passion 2019 เพื่อรองรับกลุ่ม E-Sport ซึ่งเป็นกระจกกันรอยที่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่นิยมการเล่นเกมมือถือ ซึ่งบริษัทพัฒนาคุณสมบัติของกระจกหน้าจอมือถือไม่ใช้ดูดนิ้วเวลาเล่นเกม ซึ่งออกผลิตภัณฑ์ตัวนี้มาเมื่อต้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
กระจกกันรอย “ยูวี” สำหรับคนที่ต้องใช้หน้าจอมือถือในการสแกนรายนิ้วมือ ซึ่งกระจกกันรอยธรรมดาไม่สามารถสแกนได้ ต้องใช้ยูวีโค้ดเท่านั้น
กระจกกันรอยที่เหมาะสมกับคนที่ต้องใช้โทรศัพท์หรือแท็บเล็ตในการเขียนหน้าจอ ซึ่งลักษณะของกระจกกันรอยดังกล่าวจะทำให้รู้สึกเหมือนว่าเราเขียนอยู่บนกระดาษจริงๆ ไม่ลื้นเหมือนเขียนอยู่บนกระจกกันรอยธรรมดา แต่จะมีความฝืดขึ้นมานิดหนึ่งทำให้เขียนได้แม่นขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
“ปัจจุบันฟิล์มกระจกกันรอยมีความหลากหลายมากขึ้น เพียงแต่ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ สมัยก่อนเราทำตลาดไม่ได้เลย เพราะว่าการขายฟิล์มกระจกกันรอยค่อนข้างยึดโยงกับการขายหน้าร้าน ซึ่งหน้าร้านมีฟิล์มอะไรเขาก็จะขายอย่างนั้น แต่ปัจจุบันการสื่อสารเข้าถึงผู้บริโภคมีหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคสนใจกระจกกันรอยที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การใช้โทรศัพท์ของตนเองเริ่มมองหาสินค้าที่เหมาะกับตัวเอง”
ดังนั้น แบรนด์ Focus เป็นแบรนด์เดียวที่มีการทำการตลาดอย่างจริงจัง โดยมีการสื่อสารไปยังผู้บริโภครู้จักแบรนด์และรู้ถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าของเรากับจีน ประกอบกับเป็นเจ้าเดียวที่มีโรงงานผลิตฟิล์มกันรอยในไทย
ที่ผ่านมาบริษัทมีการทำตลาดอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค และคู่ค้า สะท้อนผ่านเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน บริษัทมี “พรีเซนเตอร์” คนแรกคือ “หนึ่งธิดา โสภณ” ทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ Focus มากขึ้น มีส่วนผลักดันมาร์เก็ตแชร์เป็น 60-70% จากเดิม 20%
“เราสามารถเข้าไปครองใจผู้บริโภคได้ เมื่อใครได้ลองใช้ฟิล์มก็จะเห็นถึงความแตกต่าง และเกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งการที่มีแบรนด์ชัดเจนทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าหากมีปัญหาสามารถติดต่อได้ทันที”
นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทกำลังขยายกำลังการผลิตใหม่ คาดว่าไตรมาส 3 ปี 2562 จะเปิดดำเนินการ โดยจะมีกำลังการผลิตได้สูงถึง 2 ล้านชิ้นต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 ล้านชิ้นต่อเดือน
ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจฟิล์มกันรอยและกระจกกันรอย ผู้บริโภคจะเป็นคนขับเคลื่อน ตลาดใหญ่จะอยู่ที่คนรักมือถือ และต้องการป้องกันมือถือ สัดส่วนถึง 80% ฉะนั้น กลุ่มคนดังกล่าวเมื่อใดที่เกิดความต้องการซื้อขึ้นมาเมื่อไหร่ แค่ต้องพยายามทำให้เขาคิดถึง ส่วนการมีโปรโมชั่นกระตุ้นให้เกิดการซื้อแค่ 20% สิ่งสำคัญคือการทำให้เข้ารักในแบรนด์ “Focus”
“ผู้บริโภคที่ซื้อสมาร์ทโฟนระดับราคาถือถือราคา 6,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่จะติดฟิล์มกันรอยหรือกระจกกันรอยทุกคน เพราะเกิดความหวงไม่อยากให้หน้าจอเป็นรอย ระดับราคาฟิล์มกันรอยของบริษัทมีระดับราคาตั้งแต่ 100-1,390 บาท”
ปัจจุบันเรามีคู้ค้ารายย่อยรายใหญ่ทั่วประเทศ 3,500 ราย โดยรายใหญ่มี“คำสั่งซื้อ” (ออเดอร์)เดือนละ“ล้านชิ้น” ในช่วงที่ออกโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเปิดหน้าร้านเป็นของแบรนด์ตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบสโตร์ไว้สำหรับโชว์สินค้า ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาเช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ คาดว่าจะเห็นในเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามาดูและคู่ค้ามาศึกษาสินค้า หากทำจะเป็นลักษณะ การทำการตลาด และอำนวยความสะดวกให้กับคู้ค้าภายในพื้นที่นั้น เพื่อที่คู่ค้าจะได้ไม่ต้องสต็อกสินค้าหลากหลาย
“วัตถุประสงค์การเปิดหน้าร้านของเรา เพื่อต้องการทำให้ผู้บริโภคมาศึกษาดูฟิล์มที่มีความหลากหลาย และผู้บริโภคสามารถเลือกดูว่าฟิล์มสไตล์ไหนเหมาะสมกับการใช้งานตัวเอง ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะเป็นธงหลักในของเราในการสื่อสารถึงผู้บริโภค หากเราจะเปิดหน้าร้านจะเป็นในลักษณ์เน้นโชว์เทคโนโลยีมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของผู้บริโภคจะขับเคลื่อนไปในลักษณะเลือกซื้อฟิล์มกันรอยหรือกระจกกันรอย ตามไลฟ์สไตล์เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคน โดยปัจจุบันผู้บริโภคให้การตอบรับมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของรายได้รวมภายในปีนี้ จากเดิม 10% โดยเฉพาะฟิล์มที่เหมาะกับการดูหนัง , ฟิล์มที่เหมาะกับการเล่นเกม เป็นต้น
“ปัจจุบันผู้บริโภคมีความถี่ในการเปลี่ยนกระจกกันรอยมากกว่าฟิล์มกันรอยที่ติดครั้งเดียวอยู่จนเปลี่ยนมือถือ หรือฟิล์มพัง เพราะว่ากระจกกันรอยแตกง่าย หากตกพื้นแรงๆ แต่สามารถปกป้องหน้าจอได้ดีกว่า ในเมืองไทยอัตราเฉลี่ยการเปลี่ยนฟิล์มมือถืออยู่ที่ 6 เดือนครั้ง ถือว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ประมาณ 1 ปีครั้ง”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดในภูมิภาคยังเติบโตดี ตามพฤติกรรมการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นหน้าจอใหญ่ที่มีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายของ Focus เติบโตอย่างน้อย 50% หรือมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นกระจกกันรอย 70% ฟิล์มกันรอย 30% ขณะที่ยอดขายรวมของทั้งบริษัท ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์กลุ่มอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น Rizz, BEWELL และ WHY อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท
เขายังระบุว่า สถานการณ์การแข่งขันในตลาดยังคงมี “ความรุนแรง” ทั้งด้านราคา การลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ การนำเข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่าย บริษัทจึงต้องรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดต่อเนื่อง โดยในปีนี้บริษัทตั้งงบการตลาดไว้ 30 ล้านบาท สำหรับสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคผ่านกิจกรรมต่างๆ ในช่องทางออนไลน์
-------------------------
15ปีแบรนด์“Focus”
“ทัชสกรีน”ดันยอดขายพุ่ง
“อมรศักดิ์ แดงแสงทอง” รองประธานกรรมการฝ่ายการตลาด บริษัท ดีพลัส อินเตอร์เทรด จำกัด เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจถือกำเนิดเมื่อ 15 ปีก่อน โดยฟิล์มกันรอยเกิดขึ้นจากการผลิตภัณฑ์ฟิล์มติดกล้องดิจิทัล แต่หน้อจอกล้องดิจิทัลมีขนาดเล็ก ช่วงนั้นลูกค้าต้องการติดฟิล์มเพื่อไม่ให้หน้าจอกล้องดิจิทัลเป็นรอยขีดข่วน
ก่อนบริษัทจะขยับมาทำฟิล์มกันรอยติดโทรศัพท์มือถือ หลังจากเข้าสู่ยุคโทรศัพท์มือถือเริ่มมีหน้าจอแสดงผล แต่ช่วงนั้นหน้าจอมือถือยังมีขนาดเล็ก ยกตัวอย่าง โทรศัพท์แบรนด์ Nokia (โนเกีย) แบรนด์ Motorola (โมโตโรล่า) เป็นต้น ซึ่งตอนนั้นโทรศัพท์มือถือมีราคาค่อนข้างแพงมาก ดังนั้น จึงมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งต้องการติดฟิล์มกันรอย เพื่อปกป้องริ้วรอยบนหน้าจอไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนเพียงอย่างเดียว
“ช่วงนั้นฟิล์มกันรอยทั้งของ Focus และเจ้าอื่นๆ ในรุ่นแรกๆ จะไม่ได้มีอะไรพิเศษ มีให้เลือกแค่แบบใสและด้าน โดยเน้นไปที่การปกป้องริ้วรอยบนหน้าจอไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไทยเริ่มเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีเข้าสู่ยุค 3G และมาพร้อมกับโทรศัพท์หน้าจอทัชสกรีน ที่หน้าจอมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ช่วงนั้นธุรกิจฟิล์มกันรอยเติบโตก้าวกระโดด 100% ทุกปี สะท้อนจากการที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ที่สามารถรองรับเทคโนโลยี 3G ได้
ประกอบกับ เหล่าโอปอเรเตอร์ข่ายมือถือมีการทำการตลาดกระตุ้นด้วยการแจกฟิล์มกันรอย เพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคหันมาเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ ที่มีหน้าจอใหญ่ขึ้น ทำให้ในช่วงนั้นธุรกิจฟิล์มกันรอยมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมาก
ในยุคเทคโนโลยี 4G ผลิตภัณฑ์ฟิล์มกันรอยก็มีการพัฒนาเพิ่มลูกเล่นเข้าไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มลดรอยนิ้วมือ , ฟิล์มกันกระแทก , ฟิล์มถนอมสายตาที่ลดอันตรายจากแสงสีฟ้า ต่อจากฟิล์มกันรอย ก็มาเป็นกระจกนิรภัย ปกป้องหน้าจอจากการตกแตก ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากในช่วงนี้
----------------------------
ฟิล์มฯแบบไหน...ขายดีสุด..!!
สำหรับการใช้ฟิล์มกันรอย ของผู้บริโภคในเมืองไทย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย “แบบฟิล์มธรรมดา & ฟิล์มด้าน” โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ต้องการใช้เพียงกันรอยอย่างเดียวไปสนใจฟังก์ชั่นอย่างอื่น เน้นราคาถูก เปลี่ยนฟิล์มเสมอเมื่อเป็นรอย
“แบบฟิล์มที่มีฟังก์ชั่น” โดยลูกค้าในกลุ่มนี้ต้องการฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะกับตนเองมากสุด เช่น ต้องการตัดแสงสีฟ้า , ต้องการลดรอยนิ้วมือ เป็นต้น กลุ่มนี้มีอายุการใช้งานของฟิล์มที่มีฟังก์ชั่นเฉลี่ยมากกว่า 3 เดือนต่อแผ่น
“แบบกระจกนิรภัย” โดยเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคต้องการความคงทานในระยะยาว ติดแบบทีเดียวจบ ถ้าจะเปลี่ยนขึ้นอยู่ว่าจะแตกหรือเสียหายเท่านั้น ซึ่งฟิล์มกระจกจะมีคุณสมบัติช่วยรักษาหน้าจอไม่ให้แตกง่ายๆ หากโทรศัพท์ตกจากที่สูง
สำหรับ “ความนิยม” ของผู้บริโภคในการซื้อฟิล์มกันรอย ฟิล์มที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากสุด คือ ฟิล์มธรรมดา(ใส/ด้าน) คิดเป็นสัดส่วน 70% (หรือ 560 ล้านบาท) ฟิล์มแบบฟังก์ชั่น (เช่น Anti-Shock / Blue Light Cut/ ลดรอยนิ้วมือ และอื่นๆ ) คิดเป็นสัดส่วน 20% (หรือ 160 ล้านบาท) และฟิล์มกระจกนิรภัยกันกระแทก คิดเป็นสัดส่วน 10% (หรือ 80 ล้านบาท) ตามลำดับ