ลงทุนน้อย & กำไรสูง 'ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์'
เปิดคัมภีร์ฉบับ 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' เจ้าของตัวจริง 'ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์' ผ่านปากหลายชายคนรอง 'ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' ลงทุนน้อย & กำไรสูง หลังโยนโจทย์หินช่วงรอโครงการประมูลใหม่ๆ หันลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าขยะเดิม ดันกำลังผลิตแตะ 100% ในปีหน้า
แม้ 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' ในฐานะเจ้าของตัวจริง บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งรายใหญ่ของไทย จะไม่ได้ออกหน้าในการบริหารงาน ยกหน้าที่บริหารงานให้กับสองหลานชาย 'ภรกร เลี่ยวไพรัตน์' และ 'ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน ตามลำดับ
ทว่า เบื้องหลังการบริหารงานต่างๆ ยังมี 'ประชัย' ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวในธุรกิจมายาวนานคอยให้คำแนะนำเสมอๆ สะท้อนผ่านคำพูดของ 'รอนนี่-ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ที่บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าขยะ 180 เมกะวัตต์ แต่มี 'อัตราการใช้กำลังการผลิต' (utilization rate) ระดับ 70% หรือราว 140 เมกะวัตต์เท่านั้น ยังเหลือกำลังการผลิตอีก 40 เมกะวัตต์ !!
'ซีอีโอ (ประชัย) ต้องการเห็นการใช้กำลังการผลิตโรงไฟฟ้าขยะของ TPIPP ในระดับ 100%!!'
ดังนั้น 'ประชัย' มักจะพูดเสมอๆ ว่า ทำไม... ? บริษัทไม่ลงทุนเพื่อ 'เพิ่มประสิทธิภาพ' ของโรงไฟฟ้าให้เต็มกำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ก่อน แล้วค่อยมองเรื่องการลงทุนข้างนอก ซึ่งเป็นที่มาของการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเดิมในปีที่ผ่านมา ที่สำคัญใช้เงินลงทุนต่ำกว่าที่ออกไปลงทุนโรงไฟฟ้าข้างนอกที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้เวลา 2 ปีกว่าที่จะสร้างรายได้เข้ามา
'ถือเป็นการสร้างการเติบโตโดยที่เราไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ และได้รีเทิร์นกลับมา100%'
เป็น 'ทิศทาง' (Direction) ที่ประชัยมักพูดย้ำเสมอๆ ว่า ก่อนจะลงทุนโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ใช้เวลา 2 ปี กว่าที่จะสร้างรายได้ ฉะนั้นช่วงเวลาตรงนี้ลองโฟกัสลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเดิมของเราให้เพิ่มขึ้นก่อนไหม และภาพที่จะออกมาจะเริ่มทยอยเห็นผลหลังไตรมาส 3 ปี 2562 และเต็มกำลังการผลิตไตรมาส 3 ปี 2563 คือ “ลงทุนน้อย แต่กำไรมาก” ซึ่งบริษัทเริ่มพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว
'โรงไฟฟ้าเราเปรียบเหมือนรถยนต์ แม้หน้าจอจะมีความเร็วสูงสุด 240 แต่ในความเป็นจริงเราใช้ความเร็วเฉลี่ยแค่ 100-120 เท่านั้น แต่หากเพิ่มเครื่องยนต์อีกตัวความเร็วในการขับก็จะมากขึ้นด้วย'
โดยมีการเพิ่มหม้อต้มน้ำ 5 ตัว เพื่อเพิ่มไอน้ำให้เพียงพอในช่วงที่ต้องหยุดซ่อมบำรุงหม้อต้มน้ำบางตัว โดยปัจจุบันมีหม้อต้มน้ำเพิ่มเติมแล้ว 2 หม้อ และกำลังเพิ่มเติมอีก 3 หม้อ ซึ่งทั้งหมดจะแล้วเสร็จในกลางปีหน้า ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ
'ภัคพล' เล่าต่อว่า สำหรับทิศทางของ 'อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าขยะ' ในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่ดี !! เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะเป็นอันดับต้น ๆ โดยร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ฉบับใหม่ มีนโยบายเพิ่มการสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะเป็น 900 เมกะวัตต์ จากเดิม 400 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ภาครัฐเริ่มมีทิศทางสนับสนุนการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สอดคล้องกับ แผนธุรกิจของ TPIPP ใน 3-5 ปีข้างหน้า (2562-2565) ที่จะมุ่งเน้นลงทุนใน 'โรงไฟฟ้าขยะ' โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 300 ล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันกำลังการผลิตรวม 180 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจและความพร้อมในการลงทุน ทั้งด้านการเงิน , บุคลากรและเทคโนโลยี
โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรอผลการประมูลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 โครงการคือ 'โครงการโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช' และ 'โครงการโรงไฟฟ้าขยะหนองแขม' โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในแต่ละโรง 20 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีนโยบายจะต้องให้ 'ผลตอบแทนจากการลงทุน' (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10-15%
รวมทั้งบริษัทยังมีแผนการเข้าประมูลโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะเข้าซื้อซองประมูลทุกโครงการเพื่อนำมาศึกษาข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างแล้ว (TOR) และประเมินความเสี่ยง-ผลตอบแทน จากปัจจุบันมีความสนใจในการเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, นครราชสีมา และสงขลาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้เดินเครื่องจักรและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้า TG8 กำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ ทำให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นเป็น 440 เมกะวัตต์ รวมทั้งได้มีการเพิ่มเติมหม้อต้มไอน้ำซึ่งจะทำให้ปริมาณไอน้ำเพียงพอ ในช่วงที่ต้องหยุดซ่อมบำรุงหม้อต้มไอน้ำบางตัว
'อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างผลการดำเนินงานของบริษัท ให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งตามแผนงานที่วางไว้'
ทั้งนี้ ขยะในเมืองไทยวันละ 70,000 กว่าตัน หรือปีละ 25 ล้านตัน หากลองไปศึกษาดูโรงไฟฟ้าขยะที่นำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงคิดเป็นไม่ถึง 20% (ไม่รวมขยะเก่า) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจำนวนขยะ 70,000 ตัน มีศักยภาพความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ 1,500 เมกะวัตต์ ดังนั้น ปัจจุบันจำนวนขยะมีเพียงพอ สะท้อนจากภาครัฐตั้งเป้ากำจัดขยะแค่ระดับ 60%
ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ 3 ประเภท ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ซึ่งใช้ความร้อนทิ้งที่ถูกปล่อยทิ้งระหว่างกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPLในการผลิตไฟฟ้าของบริษัท 2.โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF ซึ่งนำขยะที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการแปรรูป หรือที่เรียกว่าเชื้อเพลิง RDF มาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า
และ 3.โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน บริษัทเชื่อว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าซึ่งใช้พลังงานความร้อนทิ้ง และพลังงานเชื้อเพลิง RDF นั้น ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลที่มีแนวโน้มสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
'ปีนี้ตั้งเป้ารายได้แตะหมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 7,915 ล้านบาท แผนจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน (TG8) ขนาดกำลังการผลิต 150เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 440 เมกะวัตต์ จาก 290 เมกะวัตต์'
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,251 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 983 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีรายได้ 2,514 ล้านบาท โดยมีปัจจัยมาจากการรับรู้รายได้จากปริมาณจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หลังเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าครบตามแผนงาน และการเพิ่มหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อต้มไอน้ำเดิม รวมถึงการที่ภาครัฐปรับขึ้นค่า FT เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.2562) มีรายได้รวม 5,211ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 3,415 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 52.62% และมีกำไรสุทธิ 2,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 1,719ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 29.92%
ท้ายสุด 'ภัคพล' ทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัทมีปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างผลการดำเนินงานของบริษัทให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งตามแผนงานที่วางไว้ !!
โบรกฯ มองรายได้โต
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ในครึ่งปีหลังคาดจะปรับตัวดีขึ้น จากโรงไฟฟ้าที่ขายไฟให้ กฟผ. และ ได้ adder 3.50 บาท TG5 กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ เดินเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากที่มีการสลับซ่อมบำรุง Boiler ในช่วง ไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมา
รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่ม Boiler จะทำให้โรงไฟฟ้าที่ขายไฟให้ กฟผ. และ adder 3.50 บาท คือ TG3 , TG5, TG6+4 รวม 163 เมกะวัตต์ มีปริมาณขายไฟมากขึ้น กำไรปกติครึ่งปีแรกคิดเป็น 49% ของประมาณการทั้งปี คงประมาณการแบบอนุรักษ์นิยม ประเมินรายได้ในปีนี้เท่ากับ 11,320 ล้านบาท เติบโต 48.6% คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 4,341 ล้านบาท เติบโต 17%
ดังนั้น คำแนะนำ 'ซื้อการลงทุน' ให้ราคาพื้นฐาน 7 บาทต่อหุ้น โดยคาดจะมีการจ่ายเงินปันผลสำหรับกำไรครึ่งปีแรก ประมาณ 0.20 บาทต่อหุ้น และ คาดจะจ่ายปันผลปี 2562 เท่ากับ 0.41 บาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทน 7.1% โดยราคาหุ้นปัจจุบัน ซื้อขาย P/E ปีนี้ต่ำ 11.3 เท่า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ยกแรก 'ทีพีไอโพลีน' แพ้คดี ลักลอบทำเหมืองแร่
-ทีพีไอพาวเวอร์ ขายหุ้นกู้ 4000 ล้านบาท อายุ 3 ปี
-เอสทีพีไอราคาหุ้นพุ่งแรง หลังชนะข้อพิพาทจ่อบันทึกกำไร 2.6
-'ทีพีไอ โพลีน' ออกหุ้นกู้ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.10%