ไจก้าแนะ "จาการ์ตา-กรุงเทพฯ" เร่งแผนป้องกันน้ำท่วม
ไจก้าแนะทางการจาการ์ตา-กรุงเทพฯ เร่งเดินหน้าโครงการต่างๆเพื่อป้องกันน้ำท่วม ชี้มีความเสี่ยงสูงที่เมืองหลวง 2 แห่งจะกลายสภาพเป็นเมืองบาดาล เหตุดินทรุดตัวทุกปี
เว็บไซต์นิกเคอิ รายงานวานนี้ (14 ก.ย.) ว่า กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียและกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย เป็น 2 เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการทรุดตัวของผืนดินเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ
ขณะที่พลเมืองในสองเมืองนี้กำลังเผชิญหน้ากับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นมากและภัยน้ำท่วมขั้นรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนของทุกปี
ทั้งนี้ เดลแทรส์ บริษัทวิจัยของเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียซึ่งเป็นที่ลุ่ม เป็นที่อยู่ของประชากร 10 ล้านคนตั้งอยู่ปากแม่น้ำซิลิวุงและมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมมาตลอด ในปี 2550 ประมาณ 70% ของจาการ์ตาจมอยู่ใต้น้ำ และเป็นเมืองที่มีอัตราการทรุดตัวของผืนดินรวดเร็วที่สุดในโลกโดยแต่ละปีมีการทรุดตัวลงประมาณ 7.5 -10 ซม.
ด้านสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ระบุว่าปัญหาเมืองหลวงทรุดตัวของกรุงจาการ์ตาเลวร้ายลงเมื่อเจอกับปัจจัยลบต่างๆ อาทิเช่น ช่วงฤดูฝนที่ฝนตกชุก ความล่าช้าของการพัฒนาระบบระบายน้ำ และการดูดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในปริมาณมากเกินไป
รัฐบาลอินโดฯตระหนักดีถึงปัญหานี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จึงประกาศย้ายเมืองหลวงไปอยู่ภาคตะวันออกของจังหวัดกาลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการย้ายประมาณ 3.274 หมื่นล้านดอลลาร์ และย้ายผู้คนประมาณ 1 ล้านคนไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่
ในส่วนของกรุงเทพฯ ไจก้า ระบุว่า เป็นเมืองหลวงที่มีการทรุดตัวลงประมาณปีละ 2 ซม. พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ประมาณ 40% ของกรุงเทพฯจะจมอยู่ใต้น้่ำภายในปี 2573 หากทางการไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อหยุดยั้งการทรุดตัวลงของผืนดิน
ที่ผ่านมา ไจก้า ได้เสนอแนะให้ทางการไทยสร้างคลองระบายน้ำเพื่อให้น้ำที่ท่วมได้มีช่องทางออกสู่ทะเล แต่เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงทำให้โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วมหยุดชะงักไป ซึ่งคาดว่าคลองระบายน้ำสองแห่งของกรุงเทพฯจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
ไจก้า ระบุว่า ความล่าช้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วมจะเป็นอุปสรรคฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียนด้วย อย่างกรณีของฟิลิปปินส์ ที่ 70% ของโครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงมะนิลา 170 โครงการที่ตั้งเป้าว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 ยังไม่แล้วเสร็จ และมีโครงการที่ยังไม่เริ่มดำเนินการถึง 40%