‘แอดวานซ์’ เคลียร์ข้อพิพาท ‘ทีโอที’ ดันกำไรพุ่ง ค่าใช้จ่ายลดทันทีเกือบ 3 พันล้าน
เรียกว่ามีข่าวดีเข้ามาอย่างต่อเนื่องเลยสำหรับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ยักษ์ใหญ่มือถือของบ้านเรา โดยล่าสุดได้เข้าทำสัญญาเพื่อระงับข้อพิพาทกับทีโอทีอีก 1 คดี
หนุนราคาหุ้นวานนี้ (26 ก.ย.) มีแรงซื้อเข้ามาคึกคักตลอดทั้งวัน ก่อนปิดการซื้อขายที่ 220 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาท หรือ 2.33% ระหว่างวันขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 221 บาท วอลุ่มทะลุ 2,658 ล้านบาท
รอบนี้บริษัทตกลงระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับอุปกรณ์โทรคมนาคมในระบบ 2จี กับทีโอที ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ชำระค่าทรัพย์สินดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือน ต.ค. 2558 – มิ.ย. 2559 โดยบริษัทตกลงจะชำระเงินตามที่ทีโอทีเรียกร้องรวมดอกเบี้ยทั้งหมด 680 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้แล้วในงบการเงินตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 – มิ.ย. 2559 จำนวน 559 ล้านบาท เท่ากับว่าจะต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีกเพียง 121 ล้านบาท
นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การใช้งานระบบ 2จี ค่อยๆ ปรับตัวลดลง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีนโยบายให้บรรดาโอเปอร์เรเตอร์หยุดให้บริการ 2จี ในอนาคตอันใกล้
บริษัทจึงต้องปรับกลยุทธ์ใหม่จากเดิมได้เช่าอุปกรณ์ภายใต้สัญญาสัมปทาน 2จี ทั้งหมดกับทีโอที มาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2559 เสียค่าเช่าเดือนละ 167 ล้านบาท เปลี่ยนมาซื้ออุปกรณ์จากทีโอทีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ที่สามารถนำไปใช้กับโครงข่าย 3จี และ 4จี ของบริษัทได้ โดยมีมูลค่า 244 ล้านบาท รวมทั้งได้จ่ายค่าเช่าอุปกรณ์ส่วนที่เหลือในเดือน ก.ค. – ส.ค. 2562 ให้กับทีโอทีอีก 6 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมดในส่วนนี้ 250 ล้านบาท
การที่บริษัทเปลี่ยนมาซื้ออุปกรณ์ 2จี จากทีโอทีในครั้งนี้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ถึงปีละ 2,004 ล้านบาท เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าแล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. 2562 เป็นต้นไป เท่ากับว่าปีนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะหายไปทั้งหมด 4 งวด เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. – ธ.ค. 2562 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 668 ล้านบาท และปีหน้าจะรับรู้ประโยชน์เต็มปี
แน่นอนว่าเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ย่อมหนุนให้กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น และปีนี้ไม่ได้มีแค่คดีเดียวที่ได้ทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับเจ้าของสัมปทาน เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาและทำสัญญาระงับข้อพิพาทในการใช้เสาโทรคมนาคมกับทีโอที
โดยสามารถขอปรับลดค่าเช่าเสาสัมปทานกับทีโอที จากเดิมที่เคยจ่ายค่าเช่าอยู่ปีละ 3,600 ล้านบาท เหลือปีละ 2,800 ล้านบาท เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายลดลงไปปีละ 800 ล้านบาท โดยสัญญาสัมปทานมีอายุทั้งหมด 10 ปี
ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 2 ดีลที่บริษัทสามารถเจรจากับทีโอที เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นคดีความระหว่างกัน ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้ถึงปีละ 2,800 ล้านบาท เลยทีเดียว หนุนผลประกอบการและกระแสเงินสด เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการประมูล 5จี ที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาสัมปทานที่ต้องทำธุรกิจร่วมกันไปอีกนาน
ในอนาคตบริษัทมีโอกาสที่จะเจรจาระงับข้อพิพาทกับเจ้าของสัมปทานเพิ่มเติมอีก รวมไปถึงโอเปอร์เรเตอร์เจ้าอื่นๆ เพราะเชื่อว่าในฝั่งของ “ทีโอที” และ “กสท.” คงอยากเร่งเคลียร์คดีที่เกิดขึ้นกับเอกชนเช่นกัน ก่อนที่ทั้งสองหน่วยงานจะควบรวมกิจการเป็น “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ” ตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วก่อนหน้านี้
ด้านบล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2562 และ ปี 2563 ขึ้น 7.4% และ 11% ตามลำดับ รับผลบวกจากการทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับทีโอที ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเช่าเสาโทรคมนาคมลดลง และประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องเช่าอุปกรณ์ 2จี กับทีโอที โดยภายใต้ประมาณการใหม่ กำไรสุทธิปี 2562 จะอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน และโตต่อเนื่องอีก 10% ในปี 2563 ขณะที่การแข่งขันด้านราคาไม่รุนแรงเหมือนในอดีต ส่วนการประมูล 5จี เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะประมูลหากราคาสมเหตุสมผล