'กมธ.สารพิษฯ' รับถูกข่มขู่-ขู่ฆ่า หลังเดินหน้าต้านใช้ 3 สารเคมีอันตราย

'กมธ.สารพิษฯ' รับถูกข่มขู่-ขู่ฆ่า หลังเดินหน้าต้านใช้ 3 สารเคมีอันตราย

"กมธ.พาราคอต สภาฯ" รับถูกข่มขู่-ขู่ฆ่า หลังเดินหน้าต้านใช้สารเคมีอันตราย ด้าน "ชวลิต" จี้ "เฉลิมชัย" แจงเหตุผลหนุนมติ กก.วัตถุอันตราย เดินหน้าใช้ 3 สารเคมีอันตราย

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.62 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) )วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฏร แถลงผลการประชุมซึ่งได้นัดหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ , กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูล ว่า รัฐมนตรีที่เชิญไม่มาให้ข้อมูล และแจ้งว่าติดภารกิจ อย่างไรก็ตาม กมธ.ฯ จะรอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในกมธ.ฯ​ต่อไป ส่วนกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งเดินหน้าการใช้สารเคมีอันตราย คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสตามมติของกรรมการที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและนายเฉลิมชัยต้องชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวด้วย

นายชวลิต กล่าวด้วยว่าตนทราบว่า นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการ นักวิจัย และผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ฐานะกมธ.ฯ ถูกข่มขู่และขู่ฆ่า ทั้งนี้กมธ.ฯ​ขอให้แจ้งความเป็นหลักฐาน

ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมต่อประเด็นถูกขู่ฆ่าว่า เป็นเรื่องจริงเพราะตนเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายผ่านเฟซบุ๊ค และมีผู้แสดงความเห็นว่า “หมออัปปรีย์ ไม่รู้หรือว่าไม่มีเงาหัวแล้ว” รวมทั้งยังขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของตน ไต่สวนและตรวจสอบว่าข้อมูลที่เผยแพร่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์จริงหรือไม่ โดยมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการ แต่ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทราบว่าตนทำเรื่องอะไรอยู่ ทำให้เรื่องตรวจสอบจึงเสร็จสิ้นภายในวันเดียว นอกจากนั้นยังมีโทรศัพท์​มายังห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์ขภาพโรคอุบัติใหม่ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และพูดด้วยน้ำเสียงค่อนข้างก้าวร้าวถามหาตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ประเมินว่าดูท่าจะไม่ดีจึงขอให้ปลายสายฝากข้อความไว้แทน

 

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีของน.ส.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการ นักวิจัย ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ป็นการถูกช่มขู่ในขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินมาประชุมที่กรุงเทพ โดยมีคนเดินตามและถามว่า “จะพูดอะไรอีกหรือ จะพูดเรื่องสารเคมีเหล่านี้ไม่ดีอย่างไรอีกหรือ” ทำให้อาจารย์พวงรัตน์ต้องเปลี่ยนเที่ยวบินหลายครั้งกว่าจะได้ประชุม นอกจากนี้ กลุ่มคนที่สนับสนุนยังบุกเข้าไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวร บีบบังคับให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไล่อาจารย์พวงรัตน์ออก ขณะเดียวกันก็มีความพยายามหน่วงไม่ให้อาจารย์พวงรัตน์ได้รับทุนในการวิจัย

“ผมถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่กักขฬะหยาบคาบ มีกระบวนการทำลายความน่าเชื่อถือข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการโต้แย้งทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร ซึ่งผมอยากบอกว่าไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ แต่ขอให้ดูข้อมูลการเสียชีวิต การเกิดโรค เช่น มะเร็ง ความเสี่ยงกับโรคต่างๆเริ่มทวีคูณขึ้นในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น และลามไปจังหวัดต่อจังหวัด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสปสปช.ระบุว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือนก.ค. ปี 62 มีผู้เสียชีวิต 400 กว่าราย และย้อนหลัง3ปี ตายปีละ600คน ยังไม่รวมผู้ที่เข้ารพ.เพราะเจ็บป่วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นสูตรของบริษัทที่ค้าสารเคมี ซึ่งกระบวนการนี้ในต่างประเทศก็เป็นแบบเดียวกัน” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว