‘สายการบิน-พลังงาน’รับอานิสงส์ บาทแข็งโป๊กรอบ 6 ปี
ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทปีนี้ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี ลงมาซื้อขายแถวๆ 30.30 บาทต่อดอลลาร์
ส่งผลให้ปีนี้เงินบาทแข็งค่าไปแล้วราวๆ 7% จากช่วงต้นปีอยู่ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าปีนี้เงินบาทแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
แน่นอนว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่า ย่อมส่งผลกระทบไปถึงภาคการส่งออก เพราะจะทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซ้ำเติมการส่งออกปีนี้ที่เจ็บหนักจากสงครามการค้า และมีโอกาสสูงมากที่ตัวเลขทั้งปีจะติดลบ กลายเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีหลายช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วและแรงมาก จนผู้ประกอบการตั้งตัวกันแทบไม่ทัน และออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการสกัดการแข็งค่า หลายเสียงถึงกับอยากให้แบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงเก็งกำไรค่าเงิน
จนในที่สุดแบงก์ชาติตัดสินใจออกมาตรการเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทเมื่อช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยให้ลดวงเงินการถือครองเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติที่เปิดบัญชีไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยจาก 300 ล้านบาท เหลือ 200 ล้านบาทต่อราย เพื่อป้องกันเงินร้อนที่หวังเข้ามาพักเงินแค่ระยะสั้น
รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตราสารหนี้ไทย โดยต้องระบุชื่อผู้ซื้อ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนอย่างใกล้ชิด แต่ดูเหมือนว่ามาตรการยกแรกที่ออกมานี้ยังไม่แรงพอ เพราะทำให้เงินบาทอ่อนค่าเพียงแค่ช่วงสั้นๆ
เมื่อยาที่ใช้ยังไม่ได้ผล ล่าสุดแบงก์ชาติส่งสัญญาณเตรียมงัดมาตรการล็อตใหม่ ทั้งการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย สนับสนุนให้นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ดูแลการซื้อขายทองคำเพื่อป้องกันค่าเงินผันผวนแรง รวมทั้งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ให้ภาครัฐเอกชนเร่งลงทุน นำเข้าสินค้าทุน เพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่อง
สุดท้ายแล้วต้องรอดูว่าจะเคาะมาตรการอะไรออกมาบ้าง และจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้นักวิเคราะห์หลายสำนักฟันธงไปในทางเดียวกันว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี
สำหรับตลาดหุ้นไทยมีทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า นักลงทุนสามารถนำมาเป็นธีมเลือกหุ้นลงทุนได้ เริ่มจากกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าสินค้าทุน สั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ สามารถใช้จังหวะเงินบาทแข็งค่า นำเข้าสินค้าได้ในต้นทุนที่ถูกลง เช่น บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO ที่นำเข้าถั่วเหลืองมาผลิตเป็นน้ำมันขายในประเทศ
บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG นำเข้ากากถั่วเหลืองมาทำอาหารสัตว์ ช่วยชดเชยผลกระทบจากการส่งออกเนื้อไก่ ส่วนกลุ่มสายการบินได้ประโยชน์จากการนำเข้าน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสายการบิน ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่เกินครึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี กลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งมีภาระหนี้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์จำนวนมาก ดังนั้น เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ จะช่วยประหยัดต้นทุนในการชำระดอกเบี้ย มีโอกาสที่จะบันทึกกำไรพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าหลักๆ คือ กลุ่มส่งออก ทั้งกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มส่งออกอาหาร โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัยที่ 32 บาทต่อ ดอลลาร์ จะกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงราว 5.8%
และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาท จากสมมติฐานของฝ่ายวิจัยจะกระทบกำไรกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารปีนี้ลดลง 4.6% จากคาดการณ์ปัจจุบัน โดยหุ้นที่ได้รับกระทบมากที่สุด คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ทุกๆ 1 บาท ที่แข็งค่ากำไรสุทธิลดลง 7.2%, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กระทบกำไร 6.7%, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กระทบกำไร 5.5%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ออมสินลดดอกเบี้ยเงินกู้0.13%
-ธอส. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% ต่อปี
-ธอส.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% มีผล16ส.ค.นี้
-4แบงก์ใหญ่ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ MOR-MRRหวังช่วยรายย่อย-เอสเอ็มอี