สหรัฐเปิดฉากเก็บภาษีอียู

สหรัฐเปิดฉากเก็บภาษีอียู

สหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (อียู) มูลค่ามากเป็นประวัติการณ์ 7.5 พันล้านดอลลาร์ แอร์บัส ไวน์ฝรั่งเศส สก็อตวิสกี โดนด้วย ไม่หวั่นอียูขู่เอาคืน

หลังจากเจ้าหน้าที่อียูกับผู้แทนการค้าสหรัฐเจรจากันไม่สำเร็จ ตกลงกันไม่ได้ในนาทีสุดท้าย มาตรการภาษีที่สหรัฐได้รับอนุมัติจากองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ให้เก็บจากอียูได้ ก็มีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ (18 ต.ค.) ตามเวลากรุงวอชิงตัน

การเก็บภาษีรอบนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐกำลังติดหล่มสงครามการค้าอยู่กับจีน ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไร้เสถียรภาพมากขึ้นไปอีก

สินค้าที่โดนเก็บภาษีคือเครื่องบินพลเรือนจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตแอร์บัส ต้องถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10%

ยังไม่หมดแค่นี้ สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างไวน์ฝรั่งเศสก็โดนด้วย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะเล่นงานแน่ ตอนนี้ไวน์จากฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนีจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 25%

งานนี้ฝั่งยุโรปอยู่เฉยไม่ได้ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนภาษีมีผลบังคับใช้ บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจฝรั่งเศสกล่าวในกรุงวอชิงตันเตือนว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐอาจถูกโต้กลับอย่างรุนแรง ระบุ“ยุโรปพร้อมจะตอบโต้ ตามกรอบแนวทางของดับเบิลยูทีโอ”

ก่อนหน้านั้นไม่นานเขาเพิ่งพบกับสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ หารือกันนอกรอบการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

“การตัดสินใจเหล่านี้จะส่งผลเสียมากมาย ไม่ว่าจะมองในมุมของเศรษฐกิจหรือการเมือง” เลอ แมร์กล่าว

ก่อนไปพบกับโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) เลอ แมร์เตือนสหรัฐไม่ให้เปิดแนวรบการค้าใหม่ และเรียกร้องเจรจาหาทางออกด้วย ชี้ว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังชลอตัว “ผมคิดว่าความรับผิดชอบของเราคือทำให้ดีที่สุด ไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น”

มหากาพย์การต่อสู้ระหว่างแอร์บัสกับโบอิงที่ดับเบิลยูทีโอเริ่มขึ้นในปี 2547 วอชิงตันกล่าวหาว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปนลักลอบอุดหนุนและให้เงินช่วยเหลือสินค้าแอร์บัสหลายรุ่น

ปีถัดมา อียูกล่าวหาว่า ระหว่างปี 2532-2549 โบอิงได้เงินอุดหนุนซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม จำนวน1.91 หมื่นล้านดอลลาร์จากหน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วย ทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์ตอบโต้กันไปมาหลายปี

ตลอดเวลาของความขัดแย้งเรื่องการอุดหนุนแอร์บัสและโบอิงยาวนาน 15 ปี อียูนิยมใช้วิธีเจรจา และปีหน้าฝ่ายตนก็จะเก็บภาษีลงโทษสหรัฐฐานสนับสนุนโบอิง แต่ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาทางการอียูเสนอให้ทั้งสองฝ่ายหยุดอุดหนุนบริษัทผลิตเครืื่องบิน

สิ่งที่อียูกลัวมากที่สุดคือทรัมป์จะเก็บภาษีก้อนโตจากรถยนต์ยุโรปราวกลางเดือน พ.ย. นี่ถือเป็นระเบิดรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนี แม้ว่าบริษัทใหญ่อย่างโฟล์คสวาเกน หรือบีเอ็มดับเบิลยูมีโรงงานผลิตในสหรัฐด้วย

“สินค้าของเราส่งออกไปยุโรปยากเหลือเกิน แต่รถยุโรปเข้ามาสหรัฐแสนง่ายดาย” ทรัมป์ตัดพ้อ

จริงๆ แล้วความขัดแย้งเรื่องแอร์บัสกับโบอิง เป็นแค่หนึี่งในหลายๆ ประเด็นที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก แล้วรุนแรงขึ้นตั้งแต่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีในปี 2560 แล้วใช้นโยบายกีดกันทางการค้า เก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าจากอียูและพันธมิตรรายอื่นๆ พร้อมกับขู่จะเก็บภาษีรถยนต์ด้วย

กลุ่มการค้าในยุโรป เช่น ผู้ผลิตไวน์ ผู้ผลิตเครื่องมือเยอรมนี และผู้ผลิตวิสกีในสก็อตแลนด์ ต่างประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลวอชิงตันเปลี่ยนท่าที

เดือน ก.ค.2561 ทรัมป์และฌ็อง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เห็นชอบสงบศึกหันมาเจรจาการค้าระหว่างกัน แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ไปไหน ขณะที่การเก็บภาษีจากข้อพิพาทแอร์บัส-โบอิงได้เริ่มขึ้นแล้ว