เศรษฐกิจไทย ‘วูบหนัก’ กดดัน กนง. ลดดอกเบี้ยเพิ่ม
นักวิเคราะห์เริ่มจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย.นี้มากขึ้น
หลังจากธนาคารกลางหลายประเทศ เริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อประคองเศรษฐกิจ ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เพิ่งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ระดับ 1.50-1.75% ส่งผลต่อเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า กดดันให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น
สำหรับ การประชุม กนง. ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 7 ในรอบปี 2562 ขณะที่ นักวิเคราะห์ เริ่มประเมินว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งภายในปีนี้
“สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า หากการประชุมรอบนี้ กนง. ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็คงจะมีการปรับลดในการประชุมรอบหน้า(18ธ.ค.) อย่างแน่นอน สาเหตุเพราะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ทำให้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเพิ่มเติม
"คิดว่าภายในสิ้นปีนี้คง "ลง" อีกครั้งแน่นอน ซึ่งอาจเป็นครั้งนี้หรือครั้งหน้าก็เป็นได้ สาเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน โดยภายนอกเป็นเรื่องการค้าโลกที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง ไอเอ็มเอฟ(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ก็ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงเกือบทุกประเทศ และธนาคารกลางขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกก็ออกมาปรับลดดอกเบี้ยลง สร้างแรงกดดันต่อดอกเบี้ยไทย"
สำหรับปัจจัยภายใน แม้กระทรวงการคลังจะออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ทำได้เพียงประคับประคองไม่ให้ชะลอตัวลงแรง คำถามสำคัญ คือ เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เริ่มเพิ่มขึ้น ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการที่เป็นลักษณะ “กระตุ้น” เศรษฐกิจจริงๆ ไม่ใช่เพียงประคับประคอง และมาตรการทางฝั่งกระทรวงการคลังควรต้องสัมพันธ์กับฝั่งของนโยบายการเงินด้วย
นายสมประวิณ ย้ำว่า หากกระทรวงการคลังไม่กล้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเกรงว่าจะสร้างภาระการคลังในอนาคต ซึ่งประเด็นนี้อยากให้คิดในมุมกลับกันว่า ถ้ากระทรวงการคลังไม่ออกมาตรการดูแลเพิ่มแล้วทำให้เศรษฐกิจชะลอลง เมื่อเศรษฐกิจชะลอ กระทรวงการคลังอาจเก็บรายได้ ได้น้อยลง ถึงตอนนั้นก็จะเป็นภาระการคลังอยู่ดี
“วันนี้เศรษฐกิจเราค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า คงย่อลงต่ำกว่า 3% คำถามคือ ถึงเวลารึยังที่เราจะใช้คำว่า ”กระตุ้น“ และถ้าต้องกระตุ้น ก็น่าจะทำทั้งฝั่งของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังควบคู่กันไป”
ส่วนกรณีที่ ธปท.แสดงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ประเด็นนี้อาจต้องแยกแยะว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากโครงสร้างหรือเกิดจากวัฎจักรทางเศรษฐกิจ เพราะช่วงที่เศรษฐกิจชะลอ ระดับหนี้ย่อมต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากรายได้น้อยลง ในขณะที่คนต้องกินต้องใช้ จึงต้องกู้เพิ่ม และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น คนมีรายได้เพิ่มขึ้นระดับหนี้ก็ควรจะลดลง หากเราไม่ยอมรับหนี้ที่สูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ ก็แปลว่าเราไม่ยอมให้กลไกทางการเงินช่วยดูแลเศรษฐกิจ
ด้าน “กำพล อดิเรกสมบัติ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า แรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น รวมทั้งการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายๆ แห่งในช่วงก่อนหน้านี้ อาจสร้างแรงกดดันต่อการทำนโยบายการเงินของ กนง.
“เราเชื่อว่าดอกเบี้ยจะลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้อาจจะยังคงไว้ก่อนแล้วไปปรับลดในรอบหน้า เพราะ กนง. อาจอยากรอดูผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐผลักดันออกมา ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่มีผลในเดือนส.ค.และก.ย. จึงเชื่อว่า กนง. คงจะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ก่อน”
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ย.ที่ออกมาล่าสุด ยังคงสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขหลายตัวออกมาไม่ดีนัก ที่น่าห่วงสุด คือ การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงค่อนข้างมาก จาก 2 กลุ่มใหญ่ คือ ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัว และ การขออนุญาตก่อสร้างที่ลดลง จึงประเมินว่านโยบายการเงินควรเข้ามามีส่วนเพิ่มเติมในการดูแลเศรษฐกิจ
“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร ประเมินว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการประชุมครั้งนี้หรือครั้งหน้าก็ได้ โดยสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก
ทั้ง 3 ปัจจัย ประกอบด้วย “การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ดีนัก” ตัวเลขล่าสุดเดือนก.ย.ที่ออกมา ชะลอตัวลงค่อนข้างมากและทำให้การขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 3 อาจเติบโตได้เพียง 2.7% เท่านั้น นอกจากนี้ “เงินเฟ้อ” ยังชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนต.ค.ขยายตัวเพียง 0.11% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเพียง 0.44% ขณะที่ “เงินบาท” ยังแข็งค่าต่อเนื่อง
“จะเห็นว่าธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกปรับลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง หากเรายังคงยืนเอาไว้ ก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากนัก”