ครม.แก้สัญญาไฮสปีดไทย-จีน ใช้ดอลลาร์แทนเงินบาท
ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบกำหนดสกุลเงินดอลลาร์ในสัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีน วงเงิน 5 หมื่นล้าน ใช้วิธีสวอปเงินบาท-ดอลลาร์และซื้อฟอเวิร์ดปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า สั่ง ธปท. - คมนาคม หาแหล่งเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศเน้นดอกเบี้ยต่ำ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบตามให้ใช้เงินสกุลดอลลาร์ในการชำระหนี้โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กทม. -โคราช) ตามกรอบวงเงินของสัญญางานระบบราง ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งการจัดหาขบวนรถไฟและจัดการฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา2.3) มูลค่า 50,633.50 ล้านบาทจากเดิมที่จะใช้เงินบาทในการชำระหนี้เงินกู้สำหรับแหล่งเงินกู้สกุลดอลลาร์นั้นให้พิจารณาแหล่งเงินกู้ทั้งในและนอกประเทศโดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด
“วิธิการดำเนินการคือเราจะกู้เงินดอลลาร์จากต่างประเทศโดยการทำสวอป โดยนำเงินบาทในประเทศไปซื้อเงินดอลลาร์ไปทันทีหรือเรียกว่าซื้อฟาวเวิร์ดแล้วทำข้อตกลงเพื่อปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งวิธีการนี้จะเป็นวิธีที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงด้วยเพราะมีการใช้เงินสกุลดอลลาร์ออกไปเพื่อชำระหนี้”นายกอบศักดิ์กล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการปรับเปลี่ยนสกุลเงินในสัญญา 2.3 ในโครงการรถไฟไทย-จีนนี้เป็นไปตามการหารือกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่ายในการเดินทางมาเยือนไทยของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีนเมื่อวันที่ 2 - 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทางการจีนต้องการให้กำหนดสกุลเงินในสัญญานี้เป็นสกุลเงินดอลลาร์จากเดิมที่เป็นการกำหนดเป็นสกุลเงินบาทเนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากปัจจุบันค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าขณะที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าซึ่งทางการจีนเสนอให้มีการใช้สกุลเงินดอลาร์เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินการของทั้งสองฝ่ายเนื่องจากการดำเนินการในสัญญานี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนานซึ่งค่าเงินที่ผันผวนจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการได้
อย่างไรก็ตามในการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมาได้มีการสรุปผลวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียระหว่างการใช้สกุลเงินบาทและสกุลเงินดอลลาร์ในร่างสัญญาที่จะทำกับทางการจีนว่ากรณีที่มีการใช้เงินบาทในร่างสัญญานี้ ข้อดีคือการกำหนดรายละเอียดเป็นเงินบาทจะทำให้ฝ่ายไทยสามารถรับรู้อัตราการชำระเงินกู้ที่คงที่ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ฝ่ายจีน (ผู้รับจ้าง) จะเป็นผู้รับความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานเอง ส่วนข้อเสียก็คือฝ่ายจีนจะไม่ตอบรับการใช้สกุลเงินบาทในสัญญา อาจมีผลต่อความสำเร็จของโครงการและอาจจะเจรจากันไม่ลงตัวเพราะฝ่ายจีนมองว่าค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงชัดเจนทำให้มูลค่่าในสัญญาที่แท้จริงไม่นิ่ง
ส่วนกรณีกำหนดสกุลเงินดอลลาร์ในสัญญา 2.3 ตามข้อเสนอของฝ่ายจีน ธปท.ได้รายงานว่ามี 2 ทางเลือกที่ไทยจะดำเนินการได้ก็คือ 1.กระทรวงการคลังใช้เงินกู้จากแหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นเงินสกุลบาท (จากแหล่งเงินกู้ในประเทศ) และการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระค่างานเป็นเงินสกุลดอลลาร์ โดยแนวทางนี้ฝ่ายจีนต้องแจ้งยืนยันกรณีค่างานที่เกิดความชัดเจนต่อฝ่ายไทยว่ามูลค่าของสัญญาตามสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าเท่าใดหรือใช้ ณ อัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.ณ วันใด โดยฝ่ายไทยกำหนดให้มีการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract)ด้วย2.กรณีใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศจีน (China EXIM) โดยกู้เงินจากChina EXIM เป็นสกุลเงินดอลลาร์และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายค่างานเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งจะไม่กระทบกับกรอบวงเงินภาพรวมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วได้เลือกวิธีการที่ 1เพื่อดำเนินการ