"รถไฟไทย"ในแผนอีอีซี
อะไรเอ๋ยไม่เข้าพวก คำถามนี้น่าจะใช้ได้ดับโครงการอีอีซี ที่มุ่งยกระดับทั้งภาคอุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน แต่หากพูดถึง "รถไฟไทย" อาจเกิดคำถามในใจว่า จะกลายเป็นความไม่เข้าพวกหรือไม่ แต่รถไฟไทยมีของดีมากกว่าที่คิด
ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งการเตรียมงานของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นการวางกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการวางโครงสร้างพื้นฐาน ทุกด้านให้มีความพร้อมและสามารถดึงดูดการลงทุนได้ ซึ่งรถไฟที่เป็นระบบขนส่งมานานเป็นร้อยปีของไทยก็อยู่ในแผนพัฒนาดังกล่าวด้วย
ตามแผนของกระทรวงคมนาคม เรื่อง“โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก เชื่อมการขนส่งทางรางสู่ 3 ท่าเรือ” ประกอบด้วยรถไฟทางคู่สายตะวันออก ช่วงหัวหมาก -ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา -มาบตาพุด
คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 3.85 หมื่นล้านบาทมีระยะทางรวม 202 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 18 สถานี ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่อีอีซี แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับ 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
การใช้ประโยชน์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้คุ้มค่าก็จำเป็นต้องมีโครงการเครือข่ายย่อยเพื่อให้บริการทั่วถึงในทุกพื้นที่