กฎหมายอากาศสะอาด : ยากถึงยากมาก
ฝุ่นละออง สาธารณภัยที่ต้องรีบเร่งแก้ไขปัญหา แต่วันนี้ภาครัฐยังคงรีๆ รอๆ ทำให้ไม่เห็นความคืบหน้านัก เพราะส่วนใหญ่ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ต้นตอหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้าไปจัดการอย่างไร
เมื่อ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร เขาได้เชิญตัวแทนจากป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปร่วมชี้แจง อ่านเฟซบุ๊คของคุณ สนธิ คชวัฒน์ เลขานุการอนุ กมธ. ถึงกับอึ้งไปชั่วขณะ ข้อมูลจากวงประชุมทั้งน่าสนใจและน่าขบคิดต่อ
มาตรา 4 ของกฎหมาย ปภ. เขียนไว้ว่า ภัยธรรมชาติที่มีผลต่อสาธารณชนจัดเป็นสาธารณภัย ดังนั้น ฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณสูงก็สมควรจัดเป็นภัยธรรมชาติได้ แต่ในทางปฏิบัติ ปภ. บอกว่ายังไม่สามารถประกาศได้ เพราะยังไม่มีรายละเอียดขั้นตอนรองรับ เช่น ยังไม่มีค่าตัวเลขของปริมาณฝุ่น PM2.5 และจำนวนวันที่เกิดขึ้นว่าเท่าไหร่จึงจะถือว่าเข้าข่ายพื้นที่ประสบสาธารณภัย โดยต้องรอจากกรมควบคุมมลพิษแจ้งก่อน
วิธีคิดของหน่วยราชการช่างละเอียดลออ เขาบอกว่าภัยจากฝุ่น PM2.5 ไม่เหมือนน้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ หรือแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือ แต่กรณีภัยจากฝุ่นนี่ หากราชการดำเนินการใดๆ ในการป้องกันหรือบรรเทาอาจมีปัญหามวลชนและถูกฟ้องร้องกลับได้ เช่น การสั่งหยุดเผาไร่อ้อย ตอซังฟางข้าว สั่งหยุดโรงงาน สั่งหยุดการก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นต้องมีความรอบคอบจึงทำให้มีหลายจังหวัดไปใช้กฎหมายอื่นแทน
อ้าว!! ไหงอย่างนั้นล่ะครับ นี่คือ คำสารภาพของราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ได้ว่า มาตรการของรัฐนั้นยังไม่ได้ข้ามไปเข้มงวดกับกิจกรรมหลายประเภท สั่งหยุดโรงงานไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่าเป็นต้นตอ เช่นเดียวกับหยุดก่อสร้าง สั่งห้ามเผาไร่อ้อย ฯลฯ หากประกาศสาธารณภัยไปแล้วก็กระทบกับต้นตอแหล่งผลิต ก็จะเกิดปัญหาตามมา
ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐรีรอไม่กล้าใช้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนี้หรอกครับ ที่ได้ทราบข่าวมา การผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด หรือที่นานาชาติรู้จักในนาม Clean Air Act. ซึ่งเคยมีเครือข่ายประชาชนร่วมกันยกร่างเสนอไป ล่าสุด กรอ.ภาคเอกชนเขาก็ผลักดันผ่านที่ประชุมหอการค้าแห่งประเทศไทยอีกร่าง นี่ก็น่าจะเจอตอ ไม่สามารถเดินหน้าพิจารณาประกาศใช้โดยเร็วเช่นกัน
เหตุผลคล้ายๆ กันก็คือ หากกฎหมายประกาศใช้ก็จะกระทบกับภาคส่วนต่างๆ ในวงกว้าง เช่น กฎหมายจะไปบังคับมาตรฐานไอเสียจากรถยนต์ ปัจจุบันบ้านเรายังเป็น ยูโร 4 บริษัทค่ายรถยนต์เขาขอเวลา 2 ปี เพื่อยกระดับเป็นยูโร 5 อุตสาหกรรมรถบ้านเรานี่เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจหลักอีกตัว ต้องเลือกเอาระหว่างชะลอกับบังคับ ในที่สุดฝ่ายกฎหมายอากาศก็ต้องชะลอไป แล้วก็ไม่ใช่แค่วงการรถยนต์ดอกนะครับ หากมาตรฐานอากาศตามกฎหมายประกาศออกมา มันมีผลบังคับไปทั่ว ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมการผลิตต่างๆ ไม่แน่จะรวมไปถึงร้านปิ้งย่างข้างทางด้วยซ้ำไป
ทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อจะชี้ไปถึงรากเหง้าว่า ปัญหามลพิษฝุ่นควันน่ะ มันซับซ้อน มันเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ เป็น Conflict of interest ที่มีเดิมพันสูงมาก ระหว่างภาคการผลิตที่ปล่อยมลพิษ กับภาคที่ได้รับผลกระทบ เช่น ภาคท่องเที่ยว ผู้คนธรรมดา ภาคการศึกษา และภาคสาธารณสุข
ไม่ว่าสังคมไหนๆ ภาคการผลิตและกิจกรรมของมนุษย์มีน้ำหนักเสมอ มันเกี่ยวไปทุกเรื่อง เช่น ตอนเช้าพ่อบ้านขับรถปิคอัพไปส่งนักเรียนที่โรงเรียน กิจกรรมของพ่อบ้านก็ขัดแย้งกับกิจกรรมของโรงเรียนแล้ว จะสั่งห้ามรถดีเซลวิ่งก็จะกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ใช่แค่พ่อบ้านหากยังเป็นกิจการค้ากิจการผลิตของสังคมอีกมากมาย ในภาคเหนือ การเผาในพื้นที่เกษตรมีความจำเป็น เพราะเป็นวิธีราคาถูกในยุคที่ชาวเกษตรกรยอบแยบเช่นนี้
ในเมื่อการเผาและการก่อมลพิษเป็นกิจกรรมพื้นฐานของสังคม ดังนั้นมันจึงยากที่จะลงไม้ลงมือห้ามเด็ดขาด จึงไม่แปลกที่คำประกาศห้ามเผาที่จังหวัดแต่ละจังหวัดประกาศออกมา ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครสนใจปฏิบัติ ห้ามเผาที่แปลงทำกิน 3 ไร่ พี่ก็เล่นเผาจากริมถนนยาวมาถึงจุดที่ต้องการลามมาเป็นร้อยไร่ไปเลย
ข่าวสารที่ออกมาว่ารัฐเองยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าลงดาบใช้ยาแรง ยังทำได้แค่มาตรการเดิมๆ เช่น ห้ามเผาในระยะ 60 วัน ห้ามเผาในเขตป่า ตามที่ข่าวสารปรากฏจึงยังเป็นมาตรการแบบเดิม เพิ่มเติมคือเข้มงวดกระชับการปฏิบัติขึ้นมาหน่อยเท่านั้น
ยังไม่สามารถไปแตะ "ภาคการผลิตและกิจกรรมเศรษฐกิจ" ของสังคมได้ เพราะว่ามันมีผลกระทบเยอะ!
เช่นเดียวกันอย่าไปหวังเยอะ ว่ารัฐบาลจะสามารถเจรจากับพม่า ลาว เพื่อนบ้านของเราให้หยุดเผาได้ พม่า กับ ลาว มีจุดความร้อนพุ่งสูงขึ้นในสามสี่ปีมานี้เพราะว่าเศรษฐกิจของเขากำลังขยับ สังเกตดูสิครับ จุดที่เกิดเป็นพื้นที่สองข้างทางถนนที่มุ่งเข้าไทยและจีนเป็นสำคัญ พม่านั้นเพิ่งเจรจาวางอาวุธไม่นาน พื้นที่สู้รบกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกเขาจึงขยายพื้นที่กันใหญ่ และข้าว/ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ราคาดีด้วยสิ ส่งมาไทยและจีนรับไม่อั้น ลาวก็เช่นกัน พื้นที่ลาวตอนเหนือกลายเป็นสัมปทานเกษตรกรรมแปลงใหญ่มากมาย ทุนจีนเข้ามาลงทุนแล้วก็ส่งกลับ มันเป็นนโยบายประเทศจะไปห้ามได้อย่างไร
วิถีการผลิต และเทคโนโลยีของสังคม ทั้งไทย พม่า ลาว ยังจำเป็นต้องใช้ไฟ มันจึงอิหลักอิเหลื่อ ปรากฏออกมาผ่านมาตรการของรัฐที่ไปไม่สุด ยักตื้นติดกึกยักลึกติดกักเช่นนี้แหละ
ไม่เหมือนจีน เมื่อทศวรรษที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามลพิษอากาศสูงลำดับต้นในโลก อันนี้เป็นผลจากการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ เป็นโรงงานของโลก แต่เมื่อจีนรวยขึ้น เทคโนโลยีทันสมัย คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น เขาก็อยากจะออกจากวังวนของอากาศพิษฝุ่นควัน แล้วมันปรากฏเป็นนโยบายรัฐที่ชัดเจน เมื่อปี 2017 นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ประกาศในที่ประชุมสภาประชาชนประจำปี บอกว่ารัฐบาลจะนำท้องฟ้าสดใสกลับคืนมาให้ได้ สื่อต่างประเทศนำคำแถลง Bring blue sky back นี้ไปพาดหัวเกรียวกราวทีเดียวเลยครับ
แล้วจีนก็ทำได้จริงๆ สถิติของปีมานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาทำได้ นั่นเพราะนโยบาย "เปลี่ยนการผลิต-ยกระดับเทคโนโลยี" รถยนต์ก็ตั้งเป้าให้มีสัดส่วนรถ EV มากขึ้นจนปีที่ผ่านมายอดขาย EV มากสุดในโลก ตั้งเป้าเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าลดสัดส่วนถ่านหินลง ตั้งเป้าเปลี่ยนสายพานการผลิตต่างๆ ให้สะอาดขึ้น นี่คือการเปลี่ยนเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่นั้นกระทั่งร้านรวงปิ้งย่างก่อมลพิษในเมืองก็ถูกเปลี่ยน ไม่ให้ใช้เตาแบบเดิม เขาเปลี่ยนกระทั่งพฤติกรรมทิ้งขยะ แยกขยะ
การจะเอาชนะฝุ่นควันของจีน ก็คือการเปลี่ยนการผลิตและยกระดับเทคโนโลยีผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนเป็นสำคัญ จีนสามารถทำได้เพราะเขารวยแล้ว มีเงินในกระเป๋า ทั้งมีเทคโนโลยี มีสินค้าชนิดใหม่ที่สะอาดขึ้น นี่ถ้าจีนยังไม่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จจากการยกระดับการผลิต ก็อาจจะวนกับปัญหามลพิษโรงงาน
แล้วเราล่ะ!??