รู้จัก ‘แลร์รี เทสเลอร์’ บิดาแห่ง Cut-Copy-Paste ผู้ล่วงลับ

รู้จัก ‘แลร์รี เทสเลอร์’ บิดาแห่ง Cut-Copy-Paste ผู้ล่วงลับ

หากพูดถึงระบบคำสั่ง “คัดลอก+แปะ” หรือ “Copy+Paste” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนคงคุ้นเคยกันดีและอาจเคยใช้งานนับครั้งไม่ถ้วนในการทำงานตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงวัยทำงาน แต่ข่าวร้ายคือ ผู้คิดค้นสุดยอดฟังก์ชั่นนี้ที่ชื่อ “แลร์รี เทสเลอร์” ได้จากโลกนี้ไปแล้ว

บริษัทซีร็อกซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เทสเลอร์เคยร่วมงานด้วย เปิดเผยในวันพุธ (19 ก.พ.) ว่า เทสเลอร์ ซึ่งเกิดเมื่อปี 2488 ในย่านบรองซ์ของนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เสียชีวิตแล้วในสัปดาห์นี้ ด้วยวัย 74 ปี

"แลร์รี เทสเลอร์เป็นทั้งผู้คิดค้นการตัด/คัดลอก และแปะ (cut/copy & paste) และเป็นมากกว่าอดีตนักวิจัยของซีร็อกซ์" ซีร็อกซ์ทวีตยกย่อง "วันทำงานของคุณง่ายขึ้นมาก ต้องขอบคุณไอเดียที่พลิกวงการของเขา แลร์รีเสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ (17 ก.พ.) ดังนั้น โปรดมาสรรเสริญเขาร่วมกันกับเรา"

ขณะที่บรรดาคนในแวดวง “ซิลิคอน วัลเลย์” แหล่งรวมบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ที่สุดของโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ต่างร่วมกันไว้อาลัยแด่การจากไปของนักวิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้ชอบคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ รายนี้เช่นกัน

เทสเลอร์ จบปริญญาตรีจาก สแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ เขามีความเชี่ยวชาญด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human–Computer Interaction) และได้ใช้ทักษะอันล้ำค่าของตัวเองกับเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง อเมซอน, แอ๊ปเปิ้ล, ยาฮู และศูนย์วิจัยซีร็อกซ์ พาร์ค

ระบบคำสั่งตัดและแปะได้รับแรงบันดาลใจจากการตัดต่อคำสมัยก่อนที่เกี่ยวข้องกับการใช้กรรไกรตัดตัวอักษรจากกระดาษสื่อสิ่งพิมพ์และนำไปแปะตรงอื่นด้วยเทปกาว

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ในซิลิคอน วัลเลย์ ทวีตในวันพุธว่า เทสเลอร์ได้กำเนิดไอเดีย ตัด คัดลอก และแปะ และรวมการฝึกวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้ากับวิสัยทัศน์ความแปลกแยกทางวัฒนธรรมที่ว่า คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องสำหรับทุกคน

คำสั่งยอดนิยมนี้ยังถูกบริษัทแอ๊ปเปิ้ลนำไปใช้ หลังจากเอาไปผนวกเข้ากับซอฟต์แวร์ใน “ลิซา” คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปที่บริษัทพัฒนาขึ้นในปี 2526 และ “แมคอินทอช” รุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวในปีต่อมา

เทสเลอร์ได้ร่วมงานกับแอ๊ปเปิ้ลในปี 2523 หลังจากถูก “สตีฟ จ็อบส์” ผู้ร่วมก่อตั้งแอ๊ปเปิ้ล ดึงตัวไปจากซีร็อกซ์ และอยู่กับบริษัทนี้นาน 17 ปี จนก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์กร

หลังจากนั้น เทสเลอร์ได้ออกมาก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา และทำงานด้านเทคโนโลยีประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ที่อเมซอน และยาฮู ในช่วงเวลาสั้น ๆ