‘เพรียงหัวหอม’ แหล่งโปรตีนใหม่ที่ดีกับโลก ‘นอร์เวย์’ เตรียมส่งออกทั่วยุโรป

‘เพรียงหัวหอม’ แหล่งโปรตีนใหม่ที่ดีกับโลก ‘นอร์เวย์’ เตรียมส่งออกทั่วยุโรป

“เพรียงหัวหอม” (Sea Squirts) เนื้อสัตว์โปรตีนสูง เตรียมว่างจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของนอร์เวย์และสวีเดนก่อนสิ้นปี 2024 และตั้งเป้าที่จะขยายไปทั่วยุโรปในปีถัดไป

KEY

POINTS

  • เพรียงหัวหอม” (Sea Squirts) เป็นสัตว์ทะเลที่มีรสชาติอูมามิและมีเนื้อสัมผัสคล้ายปลาหมึก สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย
  • สตาร์ทอัพในนอร์เวย์วางแผนที่จะวางขายเนื้อเพรียงหัวหอมในซูเปอร์มาร์เก็ตในนอร์เวย์และสวีเดนก่อนสิ้นปี 2024 และตั้งเป้าที่จะขยายไปทั่วยุโรปในปีถัดไป
  • เพรียงหัวหอมยังถือเป็นอาหารที่ยั่งยืนอย่างยิ่ง เพราะการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงเพรียงหัวหอมแทบไม่ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตอะไรเลย และไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประชากรโลกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับแหล่ง “อาหาร” ที่มีอยู่น้อยลงไปทุกที ประกอบกับการผลิตอาหารหลายชนิดก็ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก” จำนวนมาก ทำให้มนุษย์พยายามเร่งหาอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาและไม่ทำให้โลกร้อน ที่สำคัญมีรสชาติอร่อยไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ และหนึ่งในนั้นก็คือ “เพรียงหัวหอม” สัตว์รูปร่างประหลาดจากท้องทะเล

เพรียงหัวหอม” (Sea Squirts) กำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารของนอร์เวย์ และกำลังถูกนำไปทดลองในร้านอาหารหลายแห่งและกลายเป็นเมนูโปรดของหลายคน โดยเฉพาะ เบอร์เกอร์เนื้อเพรียงหัวหอม ซึ่งเป็นผลงานของ Pronofa Asa สตาร์ทอัพในสแกนดิเนเวีย และบริษัทวิจัย Marine Taste ของสวีเดน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตแหล่งโปรตีนใหม่และยั่งยืน 

พร้อมวางแผนที่จะวางขายเนื้อเพรียงหัวหอมในซูเปอร์มาร์เก็ตในนอร์เวย์และสวีเดนก่อนสิ้นปี 2024 และตั้งเป้าที่จะขยายไปทั่วยุโรปในปีถัดไป โดยความฝันสูงสุด คือ หวังว่าเพรียงหัวหอมจะอยู่ในระดับเดียวกับอุตสาหกรรมปลาแซลมอนในนอร์เวย์ 

‘เพรียงหัวหอม’ แหล่งโปรตีนใหม่ที่ดีกับโลก ‘นอร์เวย์’ เตรียมส่งออกทั่วยุโรป

เบอร์เกอร์เนื้อเพรียงหัวหอม

 

“เพรียงหัวหอม” โปรตีนชนิดใหม่ที่ยั่งยืน

เพรียงหัวหอม เป็นสัตว์ทะเลมีแกนสันหลัง รูปร่างคล้ายหัวหอม อุดมไปด้วยโปรตีนโดยธรรมชาติ และสามารถใช้เป็นอาหารทางเลือกสำหรับปลา สัตว์ และมนุษย์ได้ โดยสัตว์ทะเลชนิดนี้มีรสชาติอูมามิและมีเนื้อสัมผัสคล้ายปลาหมึก สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย

“เพรียงหัวหอมเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่ผลิตเซลลูโลสบริสุทธิ์ 100% ดังนั้นจึงมีเส้นใยบางส่วนอยู่ในเนื้อ และเราต้องหาวิธีแปรรูปเพื่อให้สัมผัสคล้ายกับเนื้อสัตว์ ไม่ให้มีกลิ่นคาวทะเล” ฮันส์ เพตเตอร์ โอลเซน ซีอีโอของ Pronofa กล่าว 

นอกจากจะมีโปรตีนสูงแล้ว เพรียงหัวหอมยังถือเป็นอาหารที่ยั่งยืนอย่างยิ่ง เพราะการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงเพรียงหัวหอมแทบไม่ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตอะไรเลย ใช้เพียงแค่เชือกสำหรับเพาะตัวอ่อน และหย่อนลงไปในทะเล ซึ่งคล้ายกับการเพาะเลี้ยงหอยนางรมหรือหอยแมลงภู่ 

พวกมันอาศัยการกรองสารอาหารจากน้ำทะเล และสามารถเติบโตบนพื้นผิวที่เป็นของแข็งได้ เมื่อพวกมันโตได้ที่ก็เพียงแค่ดึงพวกมันขึ้น แกะออกจากเชือกแล้วนำไปแปรรูปต่อ ดังนั้นการเลี้ยงเพรียงหัวหอมจึงแทบไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย

แม้จะผสมเนื้อเพรียงกับเนื้อสับชนิดอื่น ก็ยังทำให้ค่า CO2e รวมของผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างมาก และผู้บริโภคส่วนใหญ่คงไม่สามารถบอกความแตกต่างของเนื้อสัมผัสและได้

อย่างไรก็ตาม เพรียงหัวหอมและเพรียงชนิดต่าง ๆ มักถูกมองว่าเป็นสายพันธุ์รุกราน เนื่องจากสามารถพบพวกมันได้ตามท่าเทียบเรือ เชือก ทุ่น คันเรือทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็มีประโยชน์กับระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ ทำหน้าที่กรองไนโตรเจนออกจากน้ำทะเล 

หนึ่งในปัญหาของการเกษตรกรรมในปัจจุบัน ก็คือไนโตรเจนส่วนเกินซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งเมื่อไหลลงสู่ทะเลจะทำให้สาหร่ายเติบโตมากเกินไป ดังนั้นบริเวณที่มีฟาร์มเลี้ยงเพรียงจะช่วยให้มหาสมุทรใสสะอาด โดยโอลเซนกล่าวว่า บริเวณฟาร์มของเขาน้ำทะเลใสดุจคริสตัล และมองเห็นได้ไกลถึง 30 เมตร

‘เพรียงหัวหอม’ แหล่งโปรตีนใหม่ที่ดีกับโลก ‘นอร์เวย์’ เตรียมส่งออกทั่วยุโรป เพรียงหัวหอม

สำหรับสายพันธุ์เพรียงหัวหอมที่ Pronofa นำมาเพาะเลี้ยงนั้นเป็นสายพันธุ์ที่เติบโตตามธรรมชาติตามแนวชายฝั่งของสวีเดน และนอร์เวย์ ซึ่งฟยอร์ดและแนวชายฝั่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทนี้ และบริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตหลายฉบับ โดยมีการควบคุมอุณหภูมิและปัจจัยทางชีวภาพบางประการเพื่อให้การเพาะเลี้ยงเพรียงได้ผลดียิ่งขึ้น จนในตอนนี้สามารถเพาะเลี้ยงเพรียงหัวหอมได้ปริมาณมาก เพียงพอที่จะส่งออกนอกภูมิภาคสแกนดิเนเวีย

สหประชาชาติคาดว่าประชากรโลกจะเกิน 9,700 ล้านคนภายในปี 2050 ดังนั้น จำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตอาหารทั่วโลก 60-70% แต่ปัญหาคือ วิกฤติสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นไม่ได้เลยที่การผลิตอาหารแบบดั้งเดิมจะไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น ในฐานะซีอีโอของ Pronofa โอลเซนกล่าวว่า 

“จำเป็นต้องใช้มีแหล่งโปรตีนแบบดั้งเดิม เช่น ถั่วเหลืองจากแหล่งที่ยั่งยืน และแหล่งโปรตีนทางเลือก เพื่อไม่ให้ใครต้องอดอาหารในอนาคต ทั้งสองแหล่งนี้จะต้องเสริมซึ่งกันและกัน และต้องใช้ให้เหมาะสมในจุดประสงค์ที่แตกต่างกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ”

ในสถานการณ์นี้ เนื้อเพรียงหัวหอม จึงไม่ใช่เพียงคู่แข่งอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

 

ที่มา: Euro Weekly NewsThe Fish SiteThe Guardian