แห่ช้อปออนไลน์ สั่งอาหารผ่านแอพ หนีภัย ‘โควิด-19’ 

แห่ช้อปออนไลน์ สั่งอาหารผ่านแอพ หนีภัย ‘โควิด-19’ 

พิษโควิด-19 ดันพฤติกรรมใช้ชีวิตคนเปลี่ยน นายกฯอีคอมเมิร์ซ ระบุ ช้อปผ่านอีคอมเมิร์ซยอดซื้อพุ่ง 100% คำค้นหา “หน้ากากอนามัย” เพิ่มพรวด 3,500% ในเดือน ก.พ.นี้เมื่อเทียบกับ ก.พ เมื่อปีที่แล้ว ‘ลาซาด้า’ ยอดช้อปโตเช่นกัน ต้องออกมาตรการควบคุมราคาสินค้า

ยอดสั่งซื้ออาหารผ่านแอพโตพรวด

นายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอพพลิเคชั่นเก็ท (GET) แอพพลิเคชั่นออนดีมานด์ชั้นนำ ที่มีบริการสั่งอาหารเป็นบริการหลัก กล่าวว่า จากข้อมูล ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยปีนี้ที่อาจมีแนวโน้มเติบโตขึ้นถึง 31% และมีมูลค่าสูงถึง 1.8 พันล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี เก็ทมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 2.2 ล้านครั้ง และมีคนขับในระบบกว่า 40,000 คน ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงสถานการณ์ฝุ่น รวมถึงความกังวลเรื่องไวรัส พบว่า ยอดออเดอร์สั่งอาหารมีเพิ่ม ซึ่งอาจเป็นช่วงที่เก็ททำโปรโมชั่นอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เก็ท ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในเรื่องสุขอนามัยอาหารที่ส่งให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

“ถ้าพูดถึงโควิด-19 ผลกระทบที่เราเห็น อาจจะเป็นเรื่องธุรกิจที่ดูแลเรื่องอาหาร เราก็ต้องมีการดูแลความปลอดภัยของเราให้ดีขึ้น เราก็มีการสื่อสารกับคนขับมากขึ้นว่าจะดูแลตัวเองยังไง ดูแลอาหารยังไง มีเจลล้างมือกับหน้ากากให้กับคนขับ พูดคุยกับร้านอาหารมากขึ้นว่าแพ็คเก็จจิ้งต้องมิดชิด เป็นการตื่นตัวที่มากขึ้นกับทุกฝ่ายที่เราทำงานด้วย แต่เราก็ศึกษาตัวอย่างอย่างในจีน ที่ตอนนี้ฟู้ดเดลิเวอรี่เข้ามามีบทบาทมากๆ ในการใช้ชีวิตของคน เพื่อให้พร้อมรับมือหากประชาชนมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น"

เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นมากๆ ตรงนี้ทำให้คนเลือกที่จะออกจาบ้านน้อยลงด้วยเช่นกัน ใช้วิธีการสั่งอาหารมาทานที่บ้าน หรือในครอบครัวกันมากขึ้น 

"อย่างช่วงนี้ที่เรามีโปรโมชั่นหรือมีแคมแปญอาจจะดูยากหน่อยว่า มันมีผลมาจากความกังวลเรื่องโควิด-19  เพราะยอดจะขึ้นมากๆ อยู่แล้ว และธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ก็มีการเติบโตอยู่ตลอด แต่เราเองก็สามารถสังเกตได้จากช่วงก่อนหน้าบางสัปดาห์ที่แม้เราจะไม่ได้มีโปรโมชั่นอะไรเป็นพิเศษ แต่ยอดของเราก็ยังเพิ่มขึ้นราว 5-15% อย่างที่สังเกตได้คือคนสั่งมื้อเย็นที่บ้านกันมากขึ้น ทำให้จากที่ทำงานสามารถตรงกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องผจญกับมลพิษระหว่างทาง”

‘คนไทย’แชมป์นักช้อปออนไลน์

ขณะที่จากผลสำรวจที่เฟซบุ๊ค บริษัท เบน แอนด์ คอมพานี จำกัด ศึกษาพฤติกรรมด้านดิจิทัลของผู้บริโภค ระบุว่า กลุ่มผู้บริโภคดิจิทัลในไทย ที่กำลังเติบโตนี้ช่วยสร้างสมรภูมิการแข่งขันเชิงธุรกิจแห่งใหม่ให้บรรดาบริษัทต่างๆ ที่กำลังมองหาช่องทางเติบโตธุรกิจออนไลน์ และอยู่บนโซเชียล คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม ซึ่งพฤติกรรมการการซื้อสินค้าที่พุ่งทะยานเห็นได้ชัดกว่าประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านการรับรู้ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มาพร้อมกับตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้น จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม ทำให้มีการซื้อสินค้าหรือบริการบนช่องทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงปีผ่านมา

ปี 2568 คาดการณ์ว่าจำนวนผู้บริโภคชาวดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 310 ล้านคน โดยการศึกษายังได้ประเมินว่ามูลค่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์จะเติบโตถึง 4 เท่า ทั่วทั้งภูมิภาค และตั้งเป้าว่าการเติบโตจะมีมูลค่าการใช้จ่ายถึงเกือบ 5 เท่าในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน 

สำหรับพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคไทยมากกว่า 76% กล่าวว่า พวกเขารู้จักผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ใหม่ๆจากช่องทางออนไลน์ และบรรดาผู้บริโภคในไทย ยังชื่นชอบการซื้อของจากหลากหลายช่องทาง 90% ของคนกลุ่มนี้ระบุว่าพวกเขามีการเปรียบเทียบราคาสินค้าจากทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และราคาหน้าร้านก่อนตัดสินใจซื้อ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังเปิดรับแบรนด์ใหม่ๆ เกือบ 60% ลองซื้อสินค้าจากร้านออนไลน์ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อนในปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลัก 3 ประการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ประกอบด้วย 1.ยอดรีวิวสินค้าในเชิงบวกจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ 2.ราคาหรือโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจ และ 3. ความน่าสนใจของตัวผลิตภัณฑ์