สธ.เผยอัตราแพร่โควิด-19ในกทม. สูงกว่าจีนจ่อเท่าอิตาลี
สธ.เผยอัตราแพร่โควิด-19ในกทม. 1:3 เจอผู้ป่วย1 คนแพร่เชื้อไปอีก 3 คน สูงกว่าจีนจ่อเท่าอิตาลี พื้นที่ 4 จังหวัด 1:2 ส่วนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 106 ราย เสียชีวิตอีก 3 ราย โคม่า 4 ราย ผู้ป่วยกระจายใน 47 จังหวัด
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 มี.ค.2563 ที่ศูนย์แถลงข่าวทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยว่า ผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักก่อนนี้ โดยรายแรก ชาวไทยอายุ 70 ปี เป็นผู้ป่วยที่มีวัณโรคร่วม รายที่2 ผู้ป่วยชาวไทย 79 ปี เป็นเซียนมวย มีโรคประจำตัวหลายโรค อาการรุนแรงตั้งแต่แรกรับเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ทั้ง 2 รายรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และรายที่ 3 ชาวไทย อายุ 45 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ภาวะโรคอ้วน รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ รวมผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยก่อนหน้านี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
ผู้ป่วยเพิ่ม 106 ราย
ส่วนผู้ป่วยยืนยันเพิ่มอีก 106 ราย แบ่ง 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม 1 เป็นผู้ที่สัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย หรือสถานที่ที่มีคนจำนวนมากอยู่ จำนวน 25 ราย สนามมวย 5 ราย จากสนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน เป็นผู้ชม เซียนมวย จากกรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรสาคร อุบลราชธานี สถานบันเทิง 6 ราย ในจังหวัดสระบุรี กรุงเทพฯ บุรีรัมย์ ชลบุรี ผู้สัมผัสโรคที่มีรายงานมาก่อนหน้านี้ 12 ราย มีเซียนมวย พนักงานบริการ มีประวัติกินข้าวกับผู้ป่วย กินเลี้ยง กินดื่มสุรากับผู้ป่วยสถานบันเทิง และใกล้ชิดกับผู้ป่วยในสนามมวย ผู้ที่ประกอบกิจทางศาสนา 2 รายจากปัตตานี
2 .ผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย ผู้เดินทางจากจากต่างประเทศจำนวน 20 ราย เป็นคนไทย 8 ราย นักศึกษา พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานร้านแถวปอยเปต และต่างชาติ 12 ราย เป็นชาวฝรั่งเศส สวีเดน ปากีสถาน อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ผู้ทำงานเกี่ยวกับข้องกับคนต่างชาติอีก 10 ราย เป็นพนักงานรปภ. พนักงานรับรถ รถแท็กซี่ พนักงานเสิร์ฟ จากกรุงเทพฯ ชลบุรี อุบลราชธานี ภูเก็ต กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มี 4 ราย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ นครปฐม สืบเนื่องจากผู้ป่วยไม่แจ้งประวัติเสี่ยงมาก่อน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ทราบและไม่ได้ปกป้องตัวเอง จึงติดเชื้อและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ3.กลุ่มผู้ป่วยได้รับผลแล็ปยืนยันพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างสอบสวนโรคอีก 47 ราย นอกจากนี้ มีผู้ป่วยอาการหนักมี 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ประเทศไทยมรผู้ป่วยสะสม 827 ราย กลับบ้านแล้ว 57 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 766 ราย มีอาการหนัก 4 ราย และเสียชีวิต 4 ราย
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอย้ำเตือนประชาชน ช่วยกันรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1 -2 เมตร งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด แยกสำรับอาหารไม่ใช้ช้อน ถ้วย ชาม แก้วน้ำร่วมกัน หากมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัยไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง ขอให้ทุกคนร่วมมือกันกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปในวงกว้าง ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้มีน้อยที่สุด
ศพไม่แพร่เชื้อ
“กรณีที่ชาวบ้านมีความกังวลในการจัดการงานศพของผู้ที่เสียชีวิตหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19ด้วยนั้น ขอย้ำว่าการติดเชื้อโรคนี้เกิดจากการได้รับละอองฝอยจากผู้ป่วยผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ซึ่งศพไม่สามารถไป หรือจามได้ ศพจึงไม่แพร่เชื้อ อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ มีผู้เสียชีวิตจากการที่เป็นวัณโรค ที่สามารถติดเชื้อได้ทางอากาศง่ายกว่าการติดเชื้อจากละอองฝอย การจัดการงานศพก็ไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อแต่อย่างใด โรคนี้ก็เช่นกันศพไม่แพร่เชื้อ แต่ในการจัดงานศพที่จะเป็นการไปรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ต้องระวังมากกว่าว่าจะเป็นการแพร่เชื้อระหว่างกัน”นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว
ผู้ป่วยอายุ30-39ปีมากสุด
ด้านแพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในประเทศไทยจากฐานจำนวนผู้ป่วยที่ 588 ราย พบว่า เป็นคนไทย 528 ราย คิดเป็น 89.8 % จีน 27 ราย เดนมาร์ก 4 ราย ฝรั่งเศส 4 ราย ญี่ปุ่น 3 ราย อังกฤษ 3 ราย อิตาลี 3 รายและอื่นๆ 16 ราย ช่วงอายุ 30-39 ปีมากที่สุด 22.45 % รองลงมาเป็น 20-29 ปี 18.50 % และ40-49 ปี 14.15 %
กระจายใน 47 จ.
แพทย์หญิงวลัยรัตน์ กล่าวอีกว่า จากผู้ป่วยจำนวน 827 ราย พบว่ามีการกระจายไปใน 47 จังหวัดโดยยึดตามจังหวัดที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ได้แก่ กรุงเทพฯ 349 ราย นนทบุรี 47 ราย ชลบุรี 30 ราย สมุทรปราการ 26 รายและปัตตานีจังหวัดละ 26 ราย ภูเก็ต 21 ราย ยะลาและสงขลาจังหวัดละ 15 ราย อุบลราชธานี 12 ราย ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานีและนครปฐมจังหวัดละ 7 ราย นราธิวาสและปทุมธานีจังหวัดละ 6 ราย บุรีรัมย์และสระแก้วจังหวัดละ 5 คน นครราชสีมา กระบี่ สมุทรสาคร กาญจนบุรี และสุรินทร์จังหวัดละ 4 ราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สระบุรี และอุดรธานีจังหวัดละ 3 ราย นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พัทลุง ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษ จังหวัดละ 2 ราย กาฬสินธุ์ สุพรรณบุรี เชียงราย เลย แพร่ จันทบุรี ตาก นครนายก นครสวรรค์ ยโสธร ลพบุรี หนองบัวลำภู จังหวัดละ 1 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนโรคอีก 172 ราย
อัตราแพร่เชื้อกทม.สูงกว่าจีน
แพทย์หญิงวลัยรัตน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับอัตราแพร่เชื้อหรืออัตราที่แสดงว่าผู้ป่วย 1 คนจะสามารถแพร่เชื้อไปให้บุคคลอื่นได้อีกกี่คน ซึ่งใน 7 วันล่าสุดคือระหว่างวันที่ 16-24 มีนาคม 2563 พบว่า พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 1ต่อ 3.4 แปลว่าผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้อีก 3.4 คน ส่วนพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา ภูเก็ต อัตราแพร่เชื้ออยู่ที่ 1 ต่อ 2.2 และจังหวัดอื่นๆ 1 ต่อ 1.8
ผู้สื่อข่าวถามว่า อัตราแพร่เชื้อพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อเทียบกับต่างประเทศเป็นอย่างไร แพทย์หญิงวลัยรัตน์ กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีอัตราแพร่เชื้ออยู่ที่ 1 ต่อ 3.4 ใกล้เคียงกับประเทศที่มีการระบาดอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ คือประเทศอิตาลี ซึ่งมีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1ต่อ 4 ขณะที่ในประเทศจีนซึ่งสถานการณ์การระบาดอยู่ในช่วงขาลงแล้วนั้นมีอัตราแพร่เชื้อน้อยกว่ากรุงเทพฯที่เป็นช่วงขาขึ้นของโรคแล้ว
แพทย์หญิงวลัยรัตน์ กล่าวอีกด้วยว่า หากประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการการลดการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด เช่า การหยุดอยู่บ้าน รักษาระยะห่างระหว่างสังคมและบุคคล โดยหากประชาชนให้ความร่วมมือ 50 % จะทำให้จำนวนผู้ป่วยอยู่ที่หลักพันราย หากร่วมมือ 80 % จะทำให้จำนวนผู้ป่วยไม่ถึงพันราย แต่หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ จำนวนผู้ป่วยอาจเพิ่มมากขึ้นถึงหลักหมื่นราย