เปิดที่มา "April Fool's Day" ทำไม "โกหก" ในวันเมษาหน้าโง่?

เปิดที่มา "April Fool's Day" ทำไม "โกหก" ในวันเมษาหน้าโง่?

เปิดที่มาและประวัติของ "April Fool's Day" หรือ "วันเมษาหน้าโง่" ที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั่วโลก ซึ่งมักจะแกล้งอำ หรือ "โกหก" กันขำๆ โดยไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง แต่ทำได้เฉพาะในวันที่ 1 เมษายนเท่านั้น

ใครเคยโดนเพื่อน "โกหก" ในวัน "April Fool's Day" ยกมือขึ้น! เชื่อว่าหลายคนคงกันเจ็บกับการโดนแกล้งในวันนี้มาไม่น้อย บางคนแอบเคืองเพื่อนไปเลยก็มี แต่ก็โกรธจริงจังเกินงามไม่ได้เพราะว่าเพื่อนดันมาโกหกในวันที่เรียกว่า "เอพริลฟูลเดย์" ซึ่งคนทั่วโลกเขาเล่นแกล้งกันในวันที่ 1 เมษายนของทุกปีหมายความว่าคุณจะถือสาการแกล้งโกหกกันในวันนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการยกเว้นให้โกหกขำๆ ได้หนึ่งวัน แต่ทั้งนี้.. ถ้าอยากจะเล่นจริงๆ ก็อย่าลืมใส่ใจกับคำว่า "กาลเทศะ" เป็นสำคัญ

แม้ว่า "April Fool's Day" จะไม่ใช่วันสำคัญของไทยอย่างเป็นทางการ แต่คนไทยก็รับเอาวัฒนธรรมนี้เข้ามาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตามวิวัฒนาการทางสังคมและยุคสมัยที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ซึ่งจะว่าไปแล้วที่มาและต้นกำเนิดของ "April Fool's Day" ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ว่ากันว่าการแกล้ง "โกหก" กันแบบนี้มีมาตั้งแต่ยุคโรมันเลยทีเดียว ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ให้มากขึ้น อย่ารอช้า ล้อมวงเข้ามาดูกันทางนี้.. 

1. April Fool's Day เริ่มมีในศตวรรษที่ 16-19

เอพริลฟูลเดย์ (April Fool's Day) หรือ "วันเมษาหน้าโง่" ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ซึ่งมีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก โดยผู้คนจะเล่นมุกตลก "โกหก" หรือเล่าเรื่องหลอกลวงต่อกัน ตามสำนักพิมพ์หรือสื่อต่างๆ อาจรายงานเรื่องหลอกลวงในวันนี้ และออกมาเฉลยในวันต่อมา มีข้อมูลพบว่าการเล่นแกล้งกันในวัน April Fool's Day นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ในแถบประเทศทางยุโรป เช่น กรีก ฝรั่งเศส

2. หลักฐานที่เกี่ยวกับ April Fool's Day

มีบันทึกโบราณพบว่าต้นกำเนิดของ "วันเมษาหน้าโง่" เกิดขึ้นใกล้เคียงกับเทศกาลฮิลาเรียของโรมันที่จัดขึ้นวันที่ 25 มีนาคม และพบว่ามี "เทศกาลคนโง่" ในยุโรปสมัยยุคกลาง ที่จัดขึ้นวันที่ 28 ธันวาคม

3. April Fool's Day กับความเขลาของคนโบราณ

April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับความเขลาที่เก่าแก่ที่สุด มีหลักฐานจากบันทึกโบราณในตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) ซึ่งในตำนานแคนเตอร์บรี เล่าว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่

จากบันทึกเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นคือคือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง "โกหก" ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษายนนั่นเอง

158566674627

4. April Fool's Day กับวันขึ้นปีใหม่

อีกหนึ่งทฤษฎีเชื่อว่า April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16 นั้น แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลางวันปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ. 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม

และเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พวกเขายังจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่นๆ พากันเรียกพวกเขาว่า " พวกเมษาหน้าโง่" (April Fools) แล้วพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง

อ่านเพิ่มเติม: 

เตือน! ‘1 เมษายน’ วันเมษาหน้าโง่! ปล่อยข่าวหลอก 'โควิด' จับติดคุกปรับ 1 แสน!

5. คำโกหกของคนยุโรปยุคกลาง

ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ชุดคำพูด "โกหก" ที่ผู้คนสมัยนั้นนิยมนำมาแกล้งอำกัน เช่น พวกอาจารย์มักจะแกล้งบอกกับลูกศิษย์ในโรงเรียนว่า "ดูโน่นสิ! ฝูงห่าน" แล้วชี้นิ้วขึ้นไปบนฟ้า ส่วนกลุ่มนักเรียนจะแกล้งหลอกเพื่อนๆ คนอื่นว่าโรงเรียนงดการเรียนการสอนในวันนั้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่เหยื่อตกหลุมพรางตามแผนที่คนแกล้งวางเอาไว้แล้ว คนแกล้งจะตะโกนออกมาว่า "April Fool"

 
 

 

6. April Fool's Day จากยุโรปสู่ทั่วโลก

จากการล้อเลียนคนที่ฉลองปีใหม่ผิดวันในประเทศแถบยุโรปในวันที่ 1 เมษายน ต่อยอดสู่วัฒนธรรมการแกล้งโกหกกันในวัน April Fool's Day ของทุกๆ ปี ซึ่งการเล่นนี้ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา ส่วนปัจจุบันก็แพร่มาถึงชาวเอเชียรวมถึงในประเทศไทยด้วย

7. คนอังกฤษเล่น "โกหก" อย่างเปิดเผย

ในประเทศอังกฤษมีประเพณีการเล่นแกล้งกันในวันที่ 1 เมษายนที่สืบต่อกันมายาวนาน โดยวิธีแกล้งคือจะทำอย่างเปิดเผยด้วยการตะโกนว่า "เอพริลฟูล" ใส่คนที่ถูกหลอกตรงๆ เพื่อชี้เป้าว่าใครกำลังโดนแกล้งและถูกเพื่อนๆ เรียกว่า "คนโง่เดือนเมษา"

8. April Fool's Day ของชาวฝรั่งเศส

สำหรับประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 1 เมษายนผู้คนมักจะเรียกว่า "Poisson d'Avril" โดยพวกเด็กๆ จะแกล้งเพื่อนด้วยการเอากระดาษรูปปลาไปแปะไว้ข้างหลัง เมื่อฝ่ายที่ถูกแกล้งรู้ตัว คนแกล้งจะตะโกนว่า "Poisson d'Avril!" (April Fish!) ซึ่งเป็นคำที่คนฝรั่งเศษใช้เรียกคนที่ถูกหลอกหรือถูกแกล้งนั่นเอง

158566674612

9. April Fool's Day ของชาวอเมริกัน

สำหรับชาวอเมริกันก็นิยมหยอกล้อเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้าในวัน April Fool's Day เช่นกัน ซึ่งการโกหกที่เป็นสากลและนิยมที่สุดก็คือการชี้ไปที่รองเท้าของเพื่อนและพูดออกมาว่า "เชือกรองเท้าของเธอหลุดแน่ะ" หรือ แกล้งเทเกลือลงในโถใส่น้ำตาลเพื่อแกล้งคนที่นั่งข้างๆ หรือ การแอบหมุนเข็มนาฬิกาของเพื่อนให้เดินช้า 1 ชั่วโมง เพื่อหลอกให้เพื่อนเข้าชั้นเรียนผิดเวลา เป็นต้น

10. แกล้งอำได้แต่ต้องไม่อันตราย

หัวใจของการโกหกในวัน April Fool's Day คือความตลก โดยเรื่องที่โกหกต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าไม่ทำอันตรายให้คนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย เพราะฉะนั้นกลอุบายที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะต้องทำให้ทุกคนหัวเราะได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของวันแห่งความสนุกสนานนี้

--------------------------

ที่มา: 

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%87%E0%B9%88

https://www.facebook.com/Kidsangsanlanguageschool/photos/a.566949509993059/597606283594048/?type=1&theater