จดหมายถึงผู้ว่า กทม. คนไร้บ้านกับ COVID-19
คนไร้บ้าน หนึ่งในกลุ่มประชากรที่ไม่ควรถูกมองข้ามในภาวะโรคระบาดโควิด-19 เพราะว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่า และเสี่ยงต่อการติดเชื้อกมากว่าคนทั่วไปที่อยู่บ้านด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้นำต้องหันมาใส่ใจและเยียวยาช่วยเหลือ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คนไร้บ้านเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยพื้นฐานคนไร้บ้านมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว เข้าถึงสุขอนามัยน้อยกว่า มีโอกาสล้างมือน้อยกว่า ยังไม่นับว่าจะกักตัวเองอย่างไรในวันที่รัฐบาลแนะนำประชาชนให้อยู่บ้าน เพื่อลดการติดเชื้อ
เรียกว่าแค่ให้ล้างมือบ่อยๆ ยังยาก นับประสาอะไรจะให้กักตัวเอง 2-3 สัปดาห์
จากข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน ปี 2562 กทม.มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนไร้บ้านราว 4,392 คน ส่วนใหญ่หลับนอนตามป้ายรถเมล์หรือสถานที่ที่มีแสงสว่าง หาเลี้ยงชีพโดยเก็บขวดหรือของเก่าขาย รับจ้าง เป็นแรงงานรายวัน หรือค้าขายทั่วไป
ในแง่สุขอนามัยและสุขภาพพื้นฐานคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่สุขอนามัยไม่ดีนัก ที่ดูสกปรกมอมแมม เพราะต้นทุนการอาบน้ำของคนไร้บ้านสูงถึงครั้งละ 15-20 บาท เทียบเท่าอาหาร 1 มื้อ คนไร้บ้านจึงเลือกเก็บเงินไปทานข้าวดีกว่า นอกจากนี้การที่คนไร้บ้านมักอาศัยรวมกลุ่มกัน จึงง่ายต่อการระบาดของโรคติดต่อ คนไร้บ้านจำนวนมากยังเป็นวัณโรค ในบางพื้นที่สัดส่วนคนไร้บ้านที่เป็นวัณโรคสูงถึง 80% เรียกว่าเสี่ยงเป็นพิเศษต่อโรค COVID-19 ที่มุ่งโจมตีระบบทางเดินหายใจ
คนไร้บ้านมักอาศัยรวมกลุ่มกัน จึงง่ายต่อการระบาดของโรคติดต่อ
สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่สุขภาพแย่กว่าคนทั่วไป อัตราการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า โรคส่วนใหญ่ที่เป็นคือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคหัวใจ
มีการประเมินว่าจากจำนวนคนไร้บ้านราว 600,000 คนในสหรัฐ จะมีมากกว่า 60,000 คน เสี่ยงติดไวรัสในช่วง 8 สัปดาห์ข้างหน้า ล่าสุดมีคนไร้บ้านในนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนียเสียชีวิตจาก COVID-19 แล้ว องค์กรเพื่อสังคมในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร เรียกร้องให้รัฐบาล สนใจกลุ่มคนไร้บ้าน เพราะเผชิญความเสี่ยงสูงในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในแง่พื้นฐานสุขภาพของคนไร้บ้านที่ไม่ดีอยู่แล้ว การไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือป้องกันโรค การไม่มีสถานที่กักตัวเองให้ปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดด้วย
นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการให้คนอยู่บ้าน เพื่อลดการติดเชื้อความสามารถในการหารายได้ ไม่ว่าจะขายของเล็กๆ น้อยๆ หรือรับบริจาคของคนไร้บ้านก็ย่อมน้อยลง ทำให้ยังชีพได้ยากขึ้น โลกไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เมื่อรัฐบาลในบางประเทศมีนโยบายดูแลคนไร้บ้าน เช่น นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน เช่าโรงแรม 2 แห่ง ปริมาณห้องพัก 300 ห้อง เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้คนไร้บ้านใช้กักตัว ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศจัดหาห้องพักโรงแรมจำนวน 51,000 ห้อง ให้คนไร้บ้านใช้กักตัว หรือที่กรุงปารีส รัฐบาลจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับคนไร้บ้าน 2 แห่ง รองรับผู้ป่วย COVID-19 ที่อาการไม่รุนแรง
กลับมามองที่บ้านเรา โดยเฉพาะ กทม. ปัญหาคนไร้บ้านในสถานการณ์ COVID-19 น่ากังวลยิ่ง ในยามปกติคนไร้บ้านมักตกหล่นจากสวัสดิการรัฐ หลายคนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้เข้าถึงสวัสดิการรัฐลำบาก คนไร้บ้านน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก เมื่อดูจากบทบาทรัฐในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ขนาดคนปกติยังดูแลตัวเองได้ยาก หาหน้ากากไม่ได้ ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันตัวเองมีราคาแพง แล้วคนไร้บ้านจะอยู่อย่างไร
การใส่ใจคนไร้บ้านท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ไม่ว่าจะเรื่องสุขอนามัยทั่วไปหรือการหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับกักตัว เป็นทั้งเรื่องมนุษยธรรม เป็นทั้งหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องจำเป็นต่อการแก้ปัญหา COVID-19 อย่างยั่งยืน เพราะตราบใดที่มีคนในสังคมไม่ว่ากลุ่มใดยังติดเชื้อ ก็สามารถระบาดให้คนอื่นได้อยู่ดี
ท่านผู้ว่า กทม.ครับ ถึงเวลาที่ กทม.ควรมีนโยบายที่เฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลคนไร้บ้านในสถานการณ์ไวรัสนี้ การแก้ปัญหาไวรัสให้คนไร้บ้านเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาไวรัสให้คนกรุงเทพฯ และประเทศไทยในระยะยาวครับ