เช็ค 5 'อาการติดเชื้อ' ระบบทางเดินหายใจที่คนไทยควรรู้!

เช็ค 5 'อาการติดเชื้อ' ระบบทางเดินหายใจที่คนไทยควรรู้!

ชวนรู้จัก “อาการติดเชื้อ” ในระบบทางเดินหายใจที่ทำให้ป่วยได้ง่ายเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู

รู้หรือไม่? “อาการติดเชื้อ” ในระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่มักจะเกิดได้ง่ายช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าในช่วงหน้าร้อนแบบนี้จะไม่ป่วย ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เมืองไทยอยู่ในหน้าร้อนแต่ก็มีพายุโซนร้อนหอบเอาฝนและความชื้นมาทักทายบ่อยๆ จึงทำให้หลายคนป่วยและมี “อาการติดเชื้อ” ในระบบทางเดินหายใจ ในหน้าร้อนได้เช่นกัน ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของ “โควิด-19” ยังไม่คลี่คลาย คนไทยก็ยิ่งต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น

สำหรับ “อาการติเชื้อ” หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบในเมืองไทย สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่หากเกิดกับเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุก็สุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้มากกว่าที่คิด มีข้อมูลจาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อโรคที่บริเวณระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก คอ หลอดลมไปจนถึงปอด เชื้อที่เป็นสาเหตุเกิดได้ทั้งการติดเชื้อไวรัส และการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง และสามารถหายได้เอง

“อาการติดเชื้อ” ทางเดินหายใจเหล่านี้สามารถบ่งชี้โรคได้หลายโรค และมีอาการป่วยในลักษณะคล้ายกันมาก ดังนั้นต้องเช็คให้ชัวร์ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวมโรคติดเชื้อที่พบบ่อย อาการที่ต้องรู้ รวมถึงคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษา และวิธีดูแลตัวเองให้ถูกต้องมาฝากกัน ดังนี้

1. โรคหวัดหรือจมูกอักเสบ (Common Cold/acute rhinitis)

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน อาจารย์ประจำสาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยให้ข้อมูลทางวิชาการไว้ว่า โรคหวัดหรือโรคจมูกอักเสบ (acute rhinitis) เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน พบได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาว  สาเหตุเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัส (ได้แก่ rhinovirus, influenza, parainfluenza, adenovirus)

อาการ : มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหรือมึนศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล (ใส, ขุ่น หรือเหลืองเขียว) เจ็บคอ

การติดต่อ : โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน เชื้อโรคจะปนเปื้อนกับฝอยละอองของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีขนาดเล็กจะล่องลอยอยู่ในอากาศ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสูดลมหายใจเข้าไปก็จะติดเชื้อได้ หรือติดต่อได้โดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ของเล่น หนังสือ ฯลฯ หรือจับต้องจุดสัมผัสร่วมสาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ราวโหนรถเมล์ เป็นต้น

การดูแลตัวเอง : ควรหลีกเลี่ยงอากาศเย็น หากเปิดแอร์ต้องปรับอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาฯ เลี่ยงการดื่มหรืออาบน้ำเย็น เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย กินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารเผ็ดหรือรสจัด งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดช่องคอบ่อยๆ เช่น แปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำเกลือหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรดื่มหรือจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ หรือน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งและน้ำมะนาว ช่วยละลายเสมหะได้

การรักษา : ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม

158623722894

2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

เป็นโรคติดต่อที่เกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ในเด็กเล็กจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ส่วนผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่าคนหนุ่มสาว ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ (Influenza A virus) พบได้ประมาณร้อยละ 80 เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่บ่อยครั้ง, ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (influenza B virus) พบบ่อยรองลงมา และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C virus) มีความรุนแรงน้อย

อาการ : มีไข้สูงเฉียบพลัน (39-40 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลียมาก อาจมีอาการคัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกใส อาจมีเบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้อาเจียน

การติดต่อ : เชื้อไวรัสติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ผู้ที่มีเชื้อไวรัสในร่างกายสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และต่อไปได้อีก 3-5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว หรือบางรายไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

การดูแลตัวเอง : พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย รักษาร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น อาการจะหายได้เองภายใน 7-14 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน (แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ ต้องไปพบแพทย์ หากอาการรุนแรงมากจะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้)

การรักษา : ใช้การรักษาประคับประคองอาการ มีทั้งยากินและยาฉีด เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาฆ่าเชื้อ (แต่การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้) หรือใช้ยาต้านไวรัสในรายที่อาการรุนแรง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งได้ผลดีมากในการช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

158623722870

3. โรคคออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ (acute pharyngitis or tonsillitis) 

เกิดจากเยื่อบุภายในคออักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (40-80%) เชื้อไวรัสส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Rhinovirus, Adenovirus และ Coronavirus รองลงมาเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย (20%) คือ กลุ่มสเตรปโตคอกคัส Streptococcus spp. สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่

อาการ : มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอมาก คอแดงมาก มีจุดหนองที่คอ กลืนอาหารหรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บ แสบคอ อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต หากติดเชื้อไวรัสสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าหากติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้มีอาการป่วยยาวนานกว่า (เชื้อไวรัสมักใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-3 วัน ส่วนเชื้อแบคทีเรียใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-5 วัน)

การติดต่อ : ผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ช่องปาก ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ (ระยะเวลานานขึ้นกับชนิดของเชื้อ)

การดูแลตัวเอง : พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย รักษาร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น

การรักษา : หากอาการคออักเสบเป็นอยู่นานเกิน 7 วัน หรือเมื่อกินยาสามัญประจำบ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน หรือหายใจหอบเหนื่อยและมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ต้องไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะเน้นการรักษาประคับประคองอาการจนหายดี

4. โรคหลอดลมอักเสบ (acute bronchitis)

มีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง สำหรับโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันพบได้บ่อยกว่า เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น Adenovirus, Rhinovirus, Influenza, Parainfluenza, RSV) และเชื้อแบคทีเรีย เช่น Mycoplasma, Chlamydia ทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้การไหลผ่านอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว พบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ

อาการ : ไอมาก อาจไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะก็ได้ ไอบ่อยไอถี่หรือไอเป็นชุด อาจเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกหรือชายโครง หายใจลำบาก คัดจมูก น้ำมูกไหล ไข้ต่ำๆ

การติดต่อ : ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ จากการไอหรือหายใจรดกัน ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ

การดูแลตัวเอง : พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารอุ่นและย่อยง่าย เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ฝุ่น เขม่าควันต่างๆ หรือสารที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ

การรักษา: ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่ถ้ามีอาการไอรุนแรงก็ควรพบแพทย์ แพทย์จะจ่ายยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรียอาจพิจารณาจ่ายยาฆ่าเชื้อ

158623722844

5. โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม (pneumonia)

โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดการติดเชื้อบริเวณปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เกิดการอักเสบ บวม ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว พบผู้ติดเชื้อได้ทุกเพศทุกวัย อย่างโรค “โควิด-19” ก็เป็นหนึ่งในโรคปอดอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019, Adenovirus, Influenza, Parainfluenza, RSV

อาการ : มีไข้ ไอแห้ง หายใจลำบาก และหายใจหอบเหนื่อย หากเกิดในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี จะมีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้

การติดต่อ : เกิดการระบาดได้โดยติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรืออาจเกิดจากการสำลักเชื้อลงสู่ปอด การระบาดสามารถเกิดได้ในบริเวณที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก

การดูแลตัวเอง : หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีคนแออัด ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ หากอยู่นอกบ้าน มือจับสิ่งของหลายอย่าง อย่าเอามือสัมผัสจมูกหรือขยี้ตา โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของ “โควิด-19” ในตอนนี้ควรกักตัวอยู่บ้าน ปฏิบัติตามกฎเคอร์ฟิวอย่างเคร่งครัด ช่วยกันลดการระบาดในไทยให้มากที่สุด

หากมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจเจ็บหน้าอกมาก แน่นหน้าอก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดอาการเข้าได้กับโรคปอดอักเสบ ควรสวมหน้ากากอนามัยแล้วไปพบแพทย์ทันที!

การรักษา : อาจพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการให้ออกซิเจนเสริม และการรักษาตามอาการจนอาการหายดี

-------------------

อ้างอิง:

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=287

https://med.mahidol.ac.th/frontier/th/kmfever

https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/5-respiratory-infections-came-with-rain