ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 50 ราย เสียชีวิต 1 ราย
โฆษก ศบค. แถลง ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 50 ราย รวมยอดสะสม 2,473 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 33 ราย
วันนี้ (10 เม.ย.63) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันนี้ ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 50 ราย รวมยอดสะสม 2,473 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 33 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 73 ราย รวมผู้ติดเชื้อที่หายกลับบ้านแล้ว 1,013 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-39 ปี จำนวน 576 ราย อายุมากที่สุด 86 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,294 ราย ภาคเหนือ 93 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 102 ราย ภาคกลาง 346 ราย และภาคใต้ 463 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 50 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 27 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไมได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 15 ราย ได้แก่ คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 3 ราย แบ่งเป็น อังกฤษ 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย ก่อนวันที่ 31 มี.ค. ไปสถานที่ชุมนุม เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลอดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 3 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ 5 ราย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4 ราย
กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 8 ราย อยู่ในกลุ่มค้นหาเชิงรุก จ.ภูเก็ต 4 ราย
- อ่านข่าวเพิ่มเติม : อัพเดทสถานการณ์ 'โควิด-19' จากไวรัสโคโรน่า (10 เมษายน 2563)
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 43 อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัว คือ แพ้ภูมิตัวเอง ได้รับการรักษาใน 6 เมษายน ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยอาการไข้สูง 38.9 องศา ถ่ายเหลว อาเจียน หายใจหอบเหนื่อย ความดันตก ปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 7 เมษายน
“เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราต้องพูดเคสต่างๆ เหล่านี้ทุกวันโดยละเอียดเพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ เป็นโรคทางเดินหายใจแต่มีอาการอื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อให้ประชาชนสังเกตอาการ สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้อายุไม่มากแต่มีโรคประจำตัว ทำให้ติดเชื้อง่าย รุนแรง ใครที่เป็นโรคต่างๆ ต้องดูแลตัวเอง ดูแลญาติอย่างใกล้ชิด อย่าให้ได้รับเชื้อเพราะอันตรายถึงชีวิต”
ผู้ป่วยรายใหม่ 50 ราย ในวันที่ 10 เมษายน อยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. 19 ราย ยะลา 7 ราย ภูเก็ต 5 ราย นนทบุรี 4 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นครสวรรค์ ปราจีนบุรี 2 ราย ฉะเชิงเทรา ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส พะเยาว สุราษฎร์ธานี และพังงา 1 ราย ทั้งนี้ 9 จังหวัดที่ยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อ ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง
สำหรับ 10 อันดับ มีผู้ป่วยสูงที่สุด ต่อแสนประชากร อันดับ 1 ยังคงเป็น ภูเก็ต 38.95 อันดับ 2 กรุงเทพมหานคร 22.25 อันดับ 3 ยะลา 13.10 อันดับ 4 นนทบุรี 11.31 อันดับ 5 ปัตตานี 9.15 อันดับ 6 สมุทรปราการ 7.79 อันดับ 7 สตูล (จากอินโดนีเซีย) 4.96 อันดับ 8 ชลบุรี 4.72 อันดับ 9 กระบี่ 3.37 และอันดับ 10 สงขลา 3.28
10 อันดับ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 1,262 ราย 2. ภูเก็ต 166 ราย 3. นนทบุรี 148 ราย 4. สมุทรปราการ 108 ราย 5. ยะลา 77 ราย 6. ชลบุรี 73 ราย 7. ปัตตานี 66 ราย 8. สงขลา 47 ราย 9. เชียงใหม่ 40 ราย และ 10. ปทุมธานี 30 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวน 72 ราย
สถานการณ์ทั่วโลก 207 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 1,603,984 ราย อาการหนัก 4,9127 ราย รักษาหาย 356,656 ราย เสียชีวิต 95,731 ราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44
สำหรับ 10 ประเทศ ที่มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดในอัตราส่วนต่อ 1 ล้านประชากร อันดับ 1 ได้แก่ สเปน 3,167 รายต่อประชากรล้านคน อันดับ 2 อิตาลี 2,305 ราย อันดับ 3 เบลเยี่ยม 2,018 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 1,730 ราย อันดับ 5 เยอรมัน 1,352 ราย อันดับ 6 สหรัฐอเมริกา 1,316 ราย อันดับ 7 สหราชอาณาจักร 895 ราย อันดับ 8 อิหร่าน 771 ราย อันดับ 9 ตุรกี 455 ราย อันดับ 10 จีน 57 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 สัดส่วน 36 รายต่อล้านประชากร
ด้าน 10 ประเทศ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในอัตราส่วนต่อ 1 ล้านประชากร อันดับ 1 ได้แก่ สเปน 316.06 รายต่อประชากรล้านคน อันดับ 2 อิตาลี 292.04 ราย อันดับ 3 เบลเยี่ยม 193.10 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 166.44 ราย อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ 131.46 ราย อันดับ 6 สหราชอาณาจักร 104.52 ราย อันดับ 7 อิหร่าน 47.64 ราย อันดับ 8 สหรัฐอเมริกา 44.75 ราย อันดับ 9 เยอรมัน 28.03 ราย อันดับ 10 จีน 2.37 ราย
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 56 สัดส่วน 0.48 รายต่อล้านประชากร ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงทีมแพทย์ที่เก่งย่างเดียว แต่ต้องชมประชาชนทุกท่านด้วย ที่ทำให้เราสามารถใช้เวลาในการดูแลแต่ละเคสอย่างละเอียด หากท่านไม่ป่วยมากขึ้น จะทำให้เรามีเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น เขาก็รอดชีวิต หากระบาดมาพร้อมกัน ล้นห้องไอซียู ก็ไม่รู้จะใช้เวลาไหนไปปรับน้ำเกลือ คำนวณตัวยารักษาท่าน พูดให้เห็นภาพ และคิดตาม ลองดูว่าเราในฐานะประชาชนจะช่วยในสถานการณ์นี้อย่างไร
ด้าน สถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนวันที่ 1 มีนาคม – 8 เมษายน 2563 ประเทศที่มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังคงที่ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม ได้แก่ อินโดนีเซีย 280 ราย ฟิลิปปินส์ 203 ราย มาเลเซีย 67 ราย ไทย 32 ราย สิงคโปร์ 6 ราย เมียนมา 3 ราย บรูไน 1 ราย ประเทศที่ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต คือ เวียดนาม กัมพูชา ลาว
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า หากดูอัตราการเสียชีวิตของไทย พบว่า ไทยมีตัวเลขการเสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน แต่ประเทศทางยุโรปเตียงไม่พอ หน้าที่ของแพทย์คือ ชี้ว่าคนไหนมีสิทธิอยู่หรือไป ซึ่งมันสะเทือนใจคนทั้งโลก เพราะการป่วยพร้อมกันมากๆ ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว ดังนั้นเราไม่อยากให้เจอในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีการจำกัดพื้นที่ เวลาเคอร์ฟิว เพราะหากผู้ป่วยเป็นหมื่นไม่มีทางพอแน่นอน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการเคอร์ฟิว สิ่งที่เราต้องการคือ มาตรการนั่นได้รับการปฏิบัติ เพราะเรามีมาตรการเพื่อป้องกันควบคุมโรค ลดการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 เม.ย. ยังพบมีผู้กระทำความผิด ออกนอกเคหสถาน 1,152 คน มั่วสุมรวมกลุ่มชุมนุม 94 คน รวม 1,246 คน ดำเนินคดี 1,083 คน ตักเตือน 163 คน รวม 1,246 คน
ด้านมาตรการอื่นๆ ที่ออกมา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ออกมาตรการให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัด เปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฏาคม โดยให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่ โรงเรียนเอกชนประเภทนานาชาติ ซึ่งมีกำหนดวันปิดและปิดภาคเรียนไม่ตรงกับโรงเรียนในระบบ ให้พิจารณาเปิดเรียนได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องกำหนดรูปแบบและวิธีการสอนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของแต่ละพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่