ตามไปดูโควิด-19 จะพลิกโลกการศึกษาอย่างไร

ตามไปดูโควิด-19 จะพลิกโลกการศึกษาอย่างไร

สถานการณ์โควิด-19 เรียกได้ว่ากระทบกับทุกภาคส่วนทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ รวมถึงการศึกษา สถานศึกษาหลายแห่งทั่วโลกจำเป็นต้องปิดเรียน ไม่ว่าจะเป็นอิตาลีที่เริ่มปิดโรงเรียนในวันที่ 4 มีนาคม หรือเกาหลีใต้ที่เลื่อนการเปิดภาคเรียน และฮ่องกงที่หยุดยาวไปจนถึงเมษายน

ขณะที่ศูนย์กลางการระบาดอย่างจีน สั่งปิดโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทุกแห่งแบบไม่มีกำหนด ความจำเป็นในการปิดเรียนดังกล่าว นำมาซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ปฏิรูปการศึกษา เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ของเด็กต้องสูญไปในภาวะวิกฤติ ซึ่งที่ผ่านมา ทางการจีนได้ออกมาแถลงให้คำมั่นว่า จะขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ให้มีความครอบคลุม รวมถึงอัปเกรดอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม เพื่อยกระดับการศึกษาออนไลน์ให้กับนักเรียนในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด

พร้อมกับได้รับสนับสนุนผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีนทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไชน่า เทเลคอม, ไชน่า โมบายล์ และไชน่า ยูนิคอม ให้บริการการศึกษาเรียนรู้แบบออนไลน์ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น อาทิ ห้องเรียนคลาวด์ ไลฟ์สตรีมมิ่งที่ไม่คิดค่าบริการ ด้านไชน่า เทเลคอม นำเสนอคลาสเรียนออนไลน์ให้กับโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศ และส่งความช่วยเหลือไปยังโรงเรียนในมณฑลหูเป่ย พื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด ด้วยการสร้างห้องเรียนคลาวด์อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงการศึกษายุคโควิด-19

รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า การศึกษาในยุค COVID 19 กำลังเปลี่ยนแปลงจาก แรงกดดันจากโรคระบาด ที่ทำให้เราต้อง Social distancing แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลง ตอบสนองต่อสิ่งเอื้ออำนวย 3 ด้าน เรื่องแรก ผู้เรียนที่เป็น Digital native มีความคุ้นเคยกับดิจิทัล คิดแบบวินโดว์ ทำงานพร้อมกันหลายงาน สมาธิสั้น มีจินตนาการ และ จินตภาพดี ดูภาพมากกว่าอ่านตัวหนังสือแยะๆ

158749731079

ภาพจาก เฟซบุ๊ค "ยืน ภู่วรวรรณ"

เรื่องที่ 2 คือเทคโนโลยี พัฒนาไปไกล การสื่อสาร อินเทอร์เน็ต เชื่อมโยงสร้างโลกไซเบอร์ ออนไลน์ เปลี่ยน ฟิสิคัลออบเจ็ก เป็น ดิจิทัลออปเจ็ก ทำให้เกิดโลกใหม่ ที่เรียกว่า โลกไซเบอร์ และ เรื่องที่ 3 คือ สังคม ความเป็นอยู่เปลี่ยน เราใช้ดิจิทัลกันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกคนมีสมาร์ทโฟน เป็นสังคมไซเบอร์ ออนไลน์ การค้าขาย การเงิน การบริการ อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

รศ.ยืน กล่าวต่อไปว่า เมื่อ COVID 19 ก้าวเข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเร็วขึ้นกว่าเดิม COVID 19 ทำให้เราต้องรักษาระยะห่างทางสังคม การรวมกลุ่มบนโลกจริง เป็นปัญหา ซึ่งต้องเปลี่ยนมาใช้ชีวิต และการรวมกลุ่มกันทางไซเบอร์ การเรียนการสอนต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ แต่หากดูให้ดี จะเห็นว่า เป็นการ แปลงรูปไปตามเทคโนโลยี แต่ ทำให้เกิดเร็วขึ้น เทคโนโลยีในปัจจุบันรองรับได้อย่างน่าทึ่ง เราสามารถรวมกลุ่มคนทำกิจกรรมการเรียนบนโลกไซเบอร์ได้เป็นร้อยคนได้ สามารถพูดคุยโต้ตอบเหมือนอยู่ใกล้ๆ กัน

“ในช่วงนี้หลายโรงเรียนมีแนวโน้มที่ต้องปรับตัวมาออนไลน์ ขณะที่ทุกประเทศ กำหนดให้ อยู่บ้าน หยุดเชื่อ เพื่อชาติ แต่การศึกษาก็ไม่ควรหยุด ผู้ปกครอง คงต้องมองดูว่า เราจะใช้บ้านเป็นโรงเรียน ให้บุตรหลานได้อย่างไร การเตรียมการศึกษาที่บ้าน เพื่อไม่ให้ เด็กๆ ต้องเสียโอกาส การศึกษา ต้องให้ความสำคัญ ถ้าผู้ปกครองจัดแบบ โฮมสคูลได้ ก็ต้องช่วยกันทำ แต่ในแนวทางหนึ่ง คือ การเรียนแบบออนไลน์ เปลี่ยนสังคมโรงเรียนแบบเดิม เป็นการรวมกลุ่มสังคมบนไซเบอร์ ที่เด็กๆ คุ้นเคย” รศ.ยืน ระบุ

  • สพฐ. เตรียมพร้อมการสอนออนไลน์

สำหรับในประเทศไทย ซึ่งโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนสังกัดสพฐ. และโรงเรียนสังกัดต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียน และจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่ง สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดกว่า 30,000 แห่ง แบ่งการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และเตรียมพร้อม ทั้งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน สื่อที่นำมาใช้ และการพัฒนา ทำความเข้าใจกับครูผู้สอนในการใช้สื่อ ออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสม

อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอช่องทีวีดิจิทัล 1 ช่อง สำหรับการเผยแพร่การจัดการเรียนการสอนของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านช่องทางดังกล่าว

ปัจจุบันมีผู้เรียนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว หากได้ช่องทีวี 1 ช่อง เด็กกลุ่มนี้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ และเป็นการเรียนผ่านทีวีดิจิทัลแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ ในส่วนชั้นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จะมอบให้ครูเก่งทั่วประเทศจัดทำสื่อการเรียนการสอน และนำมาใส่ไว้บนเว็บไซต์ของ สพฐ. ผ่านช่องทาง Obec Channel ที่เป็นแพลตฟอร์มของ สพฐ.เพื่อให้เด็กได้เข้าไปเรียนรู้

นอกจากนี้ สพฐ.ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น Obec Content Center ซึ่งจะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โดยแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนทั้งหมดของครู โดยให้ครูและนักเรียนดาวน์โหลดดูเนื้อหาการเรียนการสอนได้ผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ทางสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์ของสพฐ.อีกทั้งได้รวบรวมวิธีการสอนของครูที่สอนเก่งจากทั่วประเทศให้มาเป็นต้นแบบแก่ครูคนอื่นๆ

  • อิตาลี พลิกโฉมการเรียนชั่วข้ามคืน

ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศเอง ซึ่งต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 และจำเป็นต้องชะลอการระบาด โดยการเลื่อนการเปิดภาคเรียน เลื่อนการสอบ และหันมาจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งในบทความ The coronavirus pandemic is reshaping education” โดย Jenny Anderson ผู้สื่อข่าวอาวุโส และบรรณาธิการ How to be Human เว็บไซต์ Quartz ระบุว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 จะมาพลิกระบบการศึกษาโลก ไปสู่การเรียนการสอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จากกรณีศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมอนซา แคว้น Lombardy ประเทศอิตาลี ซึ่งมีการระบาดโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้นำระบบการเรียนออนไลน์มาใช้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากรัฐบาลท้องถิ่นประกาศมาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

Lain Sachdev ครูใหญ่ของโรงเรียนนานาชาติมอนซา สั่งเรียกระดมพลคุณครูแทบจะในทันทีที่ทราบประกาศมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อจัดทำคลิปวิดีโอสั้นๆ สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยทีมคุณครูมีระยะเวลาแค่เพียง 1 วัน ในการจัดทำเพื่อให้สามารถเปิดชั้นเรียนออนไลน์ให้ได้ภายในวันถัดไป แม้จะเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่ตลอดระยะเวลากว่า 5 สัปดาห์ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การเรียนการสอนทั้งหมดของโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

โดยนักเรียนทุกคน ได้เรียนหนังสือเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือ วิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไป , คุณครูสอนผ่านระบบประชุมวิดีโอทางไกลในทุกวัน , เด็กเข้าร่วมชั้นเรียนผ่าน Padlet ระบบโพสอิทโน้ต ที่ให้นักเรียนร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น , ใช้โปรแกรม Flipgrid ที่ช่วยให้ครูและนักเรียนร่วมสร้างวิดีโอสั้นๆ มาแบ่งปัน และใช้เครื่องมือออนไลน์ เปิดทางให้เด็กแต่ละคนได้ทำการบ้าน ทำงานกลุ่ม และปรึกษาสอบถามคุณครูได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

  • 4 ปัจจัยปฏิรูปการศึกษาสู่ออนไลน์

ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Quartz ยังได้ระบุถึง 4 ประเด็นสำคัญ ในการปฏิรูปการศึกษาทั่วโลกบนโลกออนไลน์ ได้แก่ “ความเสมอภาคเท่าเทียม” (Equity) ระบบการศึกษาออนไลน์ ทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากของระบบการศึกษาทั่วโลก เพราะเด็กส่วนหนึ่งไม่มีทั้งอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต ข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ เดนมาร์ก สโลวีเนีย นอร์เวย์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ นักเรียนกว่า 95% มีคอมพิวเตอร์ใช้งาน เมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย ที่มีเพียง 34% เท่านั้น

ขณะที่ในสหรัฐฯ เด็กนักเรียนวัย 15 ปีจากบ้านที่มีฐานะทุกคนล้วนมีคอมพิวเตอร์ใช้ แต่เกือบ 1 ใน 4 ของเด็กที่มีฐานะยากจนกลับไม่มี ขณะเดียวกัน ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมนี้ ยังหมายรวมถึง ครูที่สมควรได้รับการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาทักษะของตนเอง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ครูสามารถมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่การให้ความรู้แก่เด็กอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลต่อเรื่องปากท้องของตนเอง

ถัดมา คือ “ห้องเรียนและโรงเรียน” (Classroom & School) ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะเรียนผ่านระบบออนไลน์ ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่จะเพียบพร้อม และไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่คุณครูจะทำหน้าที่เพียงแค่การสอน เนื่องจากคุณครูยังมีหน้าที่ ต้องคอยหาทางแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของลูกศิษย์ รวมถึงงานจิปาถะอื่นๆ ด้วย ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกควรทำก็คือการหาแนวทางที่สร้างสรรค์ ในการเปิดทางให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“เทคโนโลยีการศึกษา” (Education Technology) ต้องพิจารณาว่าคุณภาพและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ว่าดีหรือไม่ เป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และสอดคล้องกับบริบททางสังคม แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีทางการศึกษาทั้งหลายได้รับความสนใจ แต่หลังจากที่การระบาดยุติลง เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับความสนใจจากโรงเรียนส่วนใหญ่เท่าที่ควร เพราะไม่สามารถทดแทนสิ่งที่โรงเรียนและห้องเรียนให้ได้ นั่นคือ สายสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน

สุดท้าย คือ “ปฎิสัมพันธ์ทางสังคม” (Social Connection) ไม่ว่าระบบการศึกษาจะมีการปฏิรูปอย่างไร โรงเรียน ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีและควรมีอย่างที่สุด เพราะการมีอยู่ของโรงเรียน ไม่ได้หมายถึงการเป็นแค่สถานศึกษาให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วย

  • เข้าค่ายโค้ดดิ้งแบบออนไลน์ได้ที่บ้าน

การเข้าค่ายเสริมทักษะต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนในวัยเรียน แต่เมื่อสถานการณ์ที่ยังไม่อาจคาดเดาการระบาดได้ในขณะนี้ กิจกรรมเข้าค่ายจึงกลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ต้องพับเก็บไปด้วย การเข้าค่ายออนไลน์ จึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อใช้เสริมทักษะน้องๆ วัยเรียนในช่วงนี้

“คิวบิกครีเอทีฟ” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากชมรมวิชาการนักเรียนสาธิตเกษตร (KUSAC) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 โครงการเล็กๆ ที่มีทีมงานไม่กี่คน ซึ่งมีอุดมการณ์มุ่งมั่นในการถ่ายทอดจากคนหนึ่งสู่อีกคน จากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้อง จัดค่ายเยาวชนภายในโรงเรียน ก่อนที่จะพัฒนาสู่องค์กรเยาวชนอิสระภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า คิวบิกครีเอทีฟ (Cubic Creative) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ขณะที่ชมรมวิชาการนักเรียนสาธิตเกษตรเดิมก็ยังคงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนตามปกติ

158749730928

พณภท เจษฎาธรรมสถิต Activity Designer and Organizer คิวบิกครีเอทีฟ อธิบายว่า สำหรับค่ายเยาวชนของคิวบิกฯ ที่ผ่านมา จะเน้นทักษะการแก้ปัญหา การใช้ชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้น้องสามารถนำไปใช้ได้ในระยะยาว สำหรับชั้น ป.4 – ม.2 ในรูปแบบการจัดกิจกรรมค้างแรมในโรงเรียน โดยให้ทั้งประถมฯ และมัธยมฯ คละอยู่ในกลุ่มเดียวกันเพื่อให้น้องสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันประมาณ 5 วัน ซึ่งเหตุผลที่เลือกน้องๆ ในช่วงวัยนี้ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการดีที่สุด สามารถดูแลตัวเองได้ และเปิดรับและชอบกับการเข้าร่วมกิจกรรม

หลังจากนั้น คิวบิกครีเอทีฟ ได้มีการพัฒนา “คิวบิกอินโนเวเตอร์แคมป์” ขึ้น โดยบูรณาการเพื่อให้เด็กได้คิดและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำจินตนาการพัฒนาโครงงานไมโครคอนโทรลเลอร์ด้วย Micro Bit เน้นการบูรณาการหลากหลายศาสตร์ ในช่วงปิดเทอม โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงวัย คือ จูเนียร์ ป.4-6 และ มาสเตอร์ ม. 1-3 แนวทางในการสอนจะเน้นด้านโค้ดดิ้ง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องการเขียนโค้ดให้เป็นลำดับ ขั้นตอน มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการเอาโค้ดดิ้งไปใช้ สามารถพลิกแพลงเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งแต่เดิมจะจัดในรูปแบบการเข้าค่าย มีอุปกรณ์ให้ทดลองรวมในแพกเก็จ เมื่อน้องจบจากค่ายน้องจะได้มีอุปกรณ์เพื่อไปต่อยอดต่อไป 

พณภท กล่าวต่อไปว่า หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 คิวบิกฯ จึงทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนมาเป็นคอร์ส Cubic Code Online โดยใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ในการคิดว่าทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ในการสอนมากที่สุด หากอินเทอร์เน็ตหลุดจะทำอย่างไรให้น้องสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและตามเพื่อนทัน ทุกปัญหาต้องคิดให้รอบคอบ เพื่ออุดช่องโหว่ทุกอย่างให้การสอนและกิจกรรมออกมาดีที่สุด

158749730958

สำหรับ Cubic Code Online ถูกออกแบบกระบวนการต่างๆ โดยดึงจุดเด่นของระบบออนไลน์มาผสมผสานและเลือกใช้ให้เหมาะสม เน้นให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นจากการสื่อสารแบบสองทางมากกว่าการดูวิดีโอและทำตามเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้ช่วยสอนที่พร้อมดูแลอย่างใกล้ชิดในอัตราส่วนถึง 1:4 เพื่อให้มั่นใจทุกคนได้เรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยระดับของคอร์ส แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ Beginner ได้แก่ Puzzle Solving by Coding (ประถมต้น) ป.2 - ป.3 และ Puzzle Solving by Coding (ประถมปลาย) ป.4 - ป.6 ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อน ทำความรู้จักการโค้ดดิ้งผ่านการแก้โจทย์ปริศนาต่างๆ รู้จักกับการคิดเป็นลำดับขั้นตอน สามารถเชื่อมโยงเหตุและผลต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดสู่การโค้ดดิ้งในระดับถัดๆ ไปได้ และ Micro Bit for Beginner (ประถมปลาย) เริ่มต้นเรียนรู้การโค้ดดิ้งเพื่อควบคุมสมองกลจิ๋วไมโครบิต และเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์และเซนเซอร์พื้นฐานต่างๆ เช่นปุ่มกด เซนเซอร์แสง หน้าจอ และหลอดไฟหลากสีสัน

ถัดมา คือ Intermediate ได้แก่ Micro Bit Car & Radio Controller ป.5 - ม.3 เรียนรู้การใช้งานฟังก์ชั่นการส่งและรับสัญญาณวิทยุของไมโครบิตเพื่อประยุกต์ให้ชุดบอร์ดมากกว่า 1 ชิ้นทำงานร่วมกันได้ ในรูปแบบของชุดพัฒนาหุ่นยนต์และรีโมตควบคุมระยะไกลผ่านสัญญาณวิทยุ และ Advanced ได้แก่ Introduction to Data Structure ม.1 - ม.6 เรียนรู้การโค้ดดิ้งเพื่อสร้างและจัดการโครงสร้างข้อมูลแบบต่างๆ และสามารถเลือกใช้รูปแบบโครงสร้างข้อมูลให้เหมาะสมกับรูปแบบปัญหาที่ต้องการใช้งาน ผู้เรียนจำเป็นต้องเขียนโปรแกรม Python เป็นและรู้จักคำสั่ง if, for, while, def หรือในกรณีที่เขียนภาษาอื่นในระดับที่เทียบเคียงได้ โปรดปรึกษาทีมงาน

158749730932

ทั้งนี้ คุณสมบัติคอมพิวเตอร์สำหรับการเข้าร่วม Cubic Code Online คือ มีโปรแกรมเบราว์เซอร์ Safari, Chrome หรือ Edge เวอร์ชันล่าสุด มีกล้อง ไมโครโฟน และหูฟัง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

พณภท กล่าวต่อไปว่า สำหรับโปรแกรมที่ใช้ ณ ตอนนี้คือ Discord ซึ่งตอบโจทย์การพูดคุยแบบ 1 ต่อ 1 ได้ดีที่สุด และหากน้องๆ พบเจอปัญหาอินเทอร์เน็ตหลุด ทีมงานอาจจะต้องโทรหาน้องเพื่อสอบถามปัญหา และซัพพอร์ตเต็มที่ในเบื้องต้น โดยเวลาเรียนจะมีตารางชัดเจน ใช้ระยะเวลา 5 วัน และเรียนวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งน้องๆ ต้องมาเรียนพร้อมกัน ส่วนด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน ทางคิวบิกฯ จะส่งไปให้น้องๆ ที่บ้าน

“การที่เราทำออนไลน์ เราไม่ได้ปรับแค่สถานการณ์บังคับให้เรามา แต่เราคิดว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีในการทดสอบระบบการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ หลังจากหมดโควิด-19 คาดว่า Cubic Code Online จะยังอยู่ เพราะถือเป็นการเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับน้องๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งอาจไม่สะดวกในการเดินทางมาเข้าค่ายที่กรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้น ยกระดับการศึกษา ให้น้องได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากกว่าการเรียนในตำรา” พณภท กล่าวทิ้งท้าย

158749757074