ไทยยังไม่พ้นขีดอันตราย อย่าย่ามใจ-การ์ดตก
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่าย่ามใจ หรืออย่าการ์ดตกเป็นอันขาด ซึ่งอาจทำให้การระบาดเกิดขึ้นเป็นซ้ำสอง
แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังไม่สามารถไว้วางใจได้แม้เสี้ยววินาที เพราะการแพร่ระบาดทั่วโลกยังคง “วิกฤติ” จากตัวเลขของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ในระดับกว่า 2.7 ล้านคน เสียชีวิตอย่างน้อย 190,490 คน “สหรัฐ” ยังครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก รองลงมา คือ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอัตราการติดเชื้อก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
วานนี้ (24 เม.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 15 ราย รวมยอดสะสม 2,854 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 50 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 60 ราย รวม 2,490 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 314 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 694 ราย อายุมากที่สุด 97 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,613 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 108 ราย ภาคกลาง 365 ราย และภาคใต้ 604 ราย
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นสัญญาณการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชน ก็แสดงท่าทีอยากให้ผ่อนปรน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ เราเห็นความพยายามของธุรกิจการบิน สายการบินที่ต้องการกลับมาให้บริการ ด้วยการออกมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และต้องเคร่งครัดในมาตรการที่ประกาศออกมาด้วย เช่น การขายบัตรโดยสารที่นั่งเว้นที่นั่ง มีมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร การเช็กอิน การขึ้น-ลงเครื่องบิน ไม่บริการอาหาร-เครื่องดื่มบนเครื่องบิน เส้นทางบินเกิน 90 นาที ต้องกันที่นั่งแถวหลังไว้แยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัย ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นต้น รวมไปถึงมาตรการต่างๆ เพื่อให้การเปิดบริการครั้งนี้ ไม่ใช่ชนวนเหตุกลายเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือทำให้โรคกลับมาระบาดซ้ำ
ขณะที่รัฐบาลเองมีแนวโน้มอาจทบทวนการล็อคดาวน์ โดยจะมีการเรียกภาคเอกชนร่วมหารือกันในราวสัปดาห์หน้า ซึ่งการคลายล็อกมาตรการต่างๆ นั้น เราเห็นว่า ควรต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ รอบด้าน มองให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของภาคประชาชน การช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ ที่สำคัญมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ต้องไม่กระทบต่อการแพร่ระบาดของโรค ไม่เป็นการไปกระทุ้งให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำสอง ซึ่งนั่นจะยิ่งสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศซ้ำเติมวิกฤติเข้าไปอีก แนวโน้มตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลง ไม่ได้หมายถึงเราพ้นขีดอันตราย แต่กลับกันต้องยิ่งระวัง และช่วยกันคุมการระบาดของโรคให้อยู่หมัด คนติดเชื้อต้องไม่มีเลย ดังนั้น อย่าย่ามใจ อย่าการ์ดตกเป็นอันขาด