เช็คมาตรการมหาวิทยาลัย ช่วย ‘นิสิต-นักศึกษา’ อย่างไรบ้าง
ส่องมาตรการช่วยเหลือจาก 5 มหาวิทยาลัยชื่อดังในการช่วยเหลือนิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะมีมาตรการอะไรบ้างไปดูกัน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิวช่วงเวลาที่ห้ามคนออกจากบ้าน และล่าสุดได้ขยายเวลาออกอีก 1 เดือน จากกำหนดเดิมสิ้นสุด 30 เมษายน 2563 ได้ขยายไปถึง 31 พฤษภาคม 2563
ช่วงเวลาที่ฉุกละหุก หลายธุรกิจไม่ทันตั้งตัว ต้องประกาศปิดการชั่วคราว หรือหยุดการผลิตไปชั่วคราว และต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยที่ผ่านมาเราได้เห็นหลายๆ มาตรการจากภาครัฐที่เข้ามาดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กันไปในหลายอาชีพแล้ว
แต่สำหรับ "นิสิต-นักศึกษา" กลับกลายเป็นประเด็น เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิ์รับเงิน 5,000 บาท จาก "เราไม่ทิ้งกัน" โดยภาครัฐให้เหตุผลว่า นักเรียน นักศึกษา สามารถรับสิทธิ์จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ขณะที่ผู้ปกครองก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงเป็นโจทย์หนัก กับค่าใช้จ่ายที่รออยู่ข้างหน้า
ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นเสียงเรียกร้อง ขอให้ "มหาวิทยาลัย" ช่วยเหลือ หรือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างไรได้บ้าง "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงได้รวบรวมข้อมูลและมาตรการช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มากกว่าการลดค่าเทอม จะมาเรื่องใดบ้างนั้นมาดูกัน
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เริ่มที่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” น่าจะเป็นมหาวิยาลัยแรกๆ ที่ออกมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือบุคลากรภายใน จนได้เสียงชื่มชมจำนวนมาก และมีการปรับหอพักให้เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 แห่งแรกของประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา เช่น
- ออกนโยบายทำประกันภัยสุขภาพกรณีโควิด-19 ให้กับนักศึกษาทุกคน ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี
- ขยายเวลาผ่อนผันการชำระค่าเทอม ให้กับนักศึกษาที่ค้างชำระค่าเทอม โดยนักศึกษาสามารถขอผ่อนผัน หรือขยายเวลาผ่อนผันชำระค่าเล่าเรียนออกไปได้ จนถึงสิ้นปีการศึกษา 2562 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2563
- นักศึกษา ป.ตรี โท และเอก ที่ขาดแคลนหรือประสบปัญหาการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนแบบออนไลน์ สามารถลงทะเบียนขอรับ Internet Package ความเร็ว 4 Mbps (unlimited) เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเข้าถึงบทเรียนแบบออนไลน์ต่าง ๆ ได้
- มหาวิทยาลัยให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาระดับปริญญาตรี โครงการปกติ ที่ได้รับผลกระทบในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ทั้งหมด 5000 ทุน เเบ่งเป็นทุน 2 ประเภท คือ ทุนช่วยเหลือ 5,000 บาท ทั้งหมด 1,000 ทุน และทุนช่วยเหลือ 2,500 บาท ทั้งหมด 4,000 ทุน ซึ่งมีการชี้แจงว่าการจัดสรรทุนให้เเต่ละคณะไม่เกิน 15% ของจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี โครงการปกติ
- เปิดให้เรียนในหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์สู่ทักษะแห่งอนาคต (TUXSA) ฟรี ในหลักสูตร Data Science for Digital Business Transformation (M.S. Digital Business Transformation) ของวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจะให้สิทธิ์ผู้ที่ลงทะเบียน 10,000 คนแรก ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก็ออกนโยบายช่วยเหลือนิสิตเช่นกัน ซึ่งในช่วงโควิด-19 นี้ นิสิตจุฬาฯ ที่เข้ารับการคัดกรองเชื้อ COVID-19 ที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยกำหนด หากแพทย์มีความเห็นให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลจุฬาฯ และได้รับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ผลการตรวจจะพบการติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ์เดิมของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือด้านเงินสงเคราะห์สวัสดิภาพนิสิตจุฬาฯ ด้วย เช่น กรณีเป็นผู้ป่วยโรค COVID-19 ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ์ที่มีแล้ว สามารถขอรับเงินช่วยเหลือรายวันๆ ละ 300 บาท ไม่เกิน 180 วันต่อ 1 ราย ตามใบรับรองแพทย์ หรือหากไปตรวจหาเชื้อฯ จากสถานพยาบาลอื่น โดยไม่ผ่านการคัดกรองของมหาวิทยาลัย หรือมีความจำเป็นเดือดร้อนอื่นใดจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ให้เสนอขอรับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยผ่านคณะวิชาที่นิสิตสังกัดเป็นรายๆ ไป
อีกทั้งยังช่วยเหลือลดค่าหอพัก ทั้งห้องพักรายเดือน กรณีที่นิสิตไม่ได้กลับเข้ามาในหอพัก จะได้รับยกเว้นค่าน้ำและค่าไฟเดือนมีนาคม 2563 และยกเว้นค่าหอพักเดือนเมษายน 2563 ด้วย รวมถึงหอพักรายเทอม เช่น นิสิตที่จบการศึกษาและนิสิตที่ไม่ประสงค์จะอยู่หอพักต่อในเทอมหน้า มหาวิทยาลัยจะพิจารณาคืนเงิน จำนวนครึ่งหนึ่งของค่าหอพักในเทอมที่ผ่านมา ส่วนนิสิตที่ได้รับสิทธิ์การอยู่หอพักในเทอมหน้า จะลดหย่อนค่าหอพักกรณีพิเศษ จำนวน 50% ของค่าหอพัก
และเมื่อการศึกษาต้องปรับตัวสู่ออนไลน์ จุฬาฯ ก็จัดหา sim card เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงและเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์ให้นิสิต เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ขณะที่ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ได้ออกแผยยุทธศาตร์เชิงรุกมา 8 ด้าน เพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรรองรับการก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงของประเทศอย่างเร่งด่วน ภายใต้สภาวะการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย 1. การพัฒนานิสิต 2.การพัฒนาการเรียนการสอน 3.การบริการสังคมและชุมชน 4.การวิจัยและบริการวิชาการ 5.การพัฒนาสารสนเทศ 6.การพัฒนาองค์ความรู้ 7.การบริหารงานและพัฒนาบุคลากร และ 8.การพัฒนาสุขภาวะองค์กร ซึ่งมีมาตรการหลัก เช่น
- ตั้งกองทุน 500 ล้านบาท ช่วยนิสิตที่ได้รับผลกระทบ เช่น ทุนช่วยงาน ทุนกู้ยืม การลดหน่อยค่าธรรมเนียมการศึกษา และทุนวิจัยสู้โควิด-19
- ลดหย่อน ผ่อนผัน ค่าหอพักภายในมหาวิทยาลัย
- สนับสนุนทุน Non-Degree เพื่อ Upskill และ Reskill สู่การเป็นผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือนิสิต เมื่อพบเชื้อไวรัสโคโรน่า และเข้ารับการรักษาติดตามอาการในโรงพยาบาล หลังตรวจพบเชื้อจนอาการหายเป็นปกติ มหาวิทยาลัยจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาล 10,000 บาท/คน หากเสียชีวิต จะช่วยเหลือ 100,000 บาท/คน
ขณะที่การเรียนการสอนภาคฤดูร้อนจะเป็นแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ 216 รายวิชา ทั้งนี้สามารถผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาได้เป็นเวลา 2 เดือน หรือหากมีกรณีจำเป็นอื่นใดให้นิสิตเสนอเรื่องผ่านคณะและสำนักบริหารการศึกษาเพื่อนำเสนอมหาวิทยาลัยต่อไป
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ในส่วนของ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” นอกจากเปิดโอกาสให้นักศึกษายื่นเรื่องขอผ่อนชำระค่าเล่าเรียนในภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562 และภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2563 แล้ว ก็ยังมีโครงการมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษารุ่นเข้าปีการศึกษา 2562 หรือก่อนหน้าที่ผ่านการพิจารณา โดยแบ่ง 2 กรณีตามระดับความเดือดร้อน โดยนำไปหักจากค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนของแต่ละภาคการศึกษา และยังช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองด้วยการลดค่าเช่าหอพักไดมอนด์เรสซิเดนซ์ เดือนมีนาคม 2563 ลง 50% และยกเว้นการคิดค่าเช่าตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ไปจนถึงหนึ่งวันก่อนวันที่มหาวิทยาลัยประกาศให้นักศึกษากลับเข้าพักได้
ขณะเดียวกันได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 ระยะเวลา 1 ปี ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาทุกคน และช่วยเหลือให้นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) มีรายได้ เช่น การจ้างงานนักศึกษา และการจัดหางาน เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีช่องทางในการสร้างเครือข่ายหารายได้จากธุรกิจออนไลน์ร่วมกับศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และพันธมิตรทางการศึกษา
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และอีกหนึ่งตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่มีมาตรการช่วยเหลือ ก็คือ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ในช่วงหลายจังหวัดประกาศปิดจังหวัด เพื่อลดการเดินทางเข้า-ออกนั้น มหาวิทยาลัยได้เปิดบริการหอพักพร้อมดูแลนักศึกษาที่ไม่เดินทางกลับภูมิลำเนา และจัดทำโครงการรับอาหารฟรี สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 300 กล่องต่อวัน
รวมถึงจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักศึกษา 250 ล้านบาท เพื่อผ่อนผัน (ขยายเวลา) การชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาใน ค่าบำรุงหอพักในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นเงินยืมค่าเช่าหอพักนอกมหาวิทยาลัยและเงินยืมค่าครองชีพ ซึ่งสำหรับค่าธรรมเนียมการศึกษา และมีการจัดสรรทุนการศึกษาแบบให้เปล่า สำหรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบราวๆ 150 ล้านบาท และ ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาทุกหลักสูตรและทุกระดับ และลดค่าบำรุงหอพักนักศึกษา ในภาคเรียนฤดูร้อน ปี 2562 และปีการศึกษา 2563 ร้อยละ 10 เป็นจำนวนเงินประมาณ 140 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจัดสรรซิมโทรศัพท์แก่นักศึกษาทุกคนในเบื้องต้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน และ จัดหาแท็บเล็ตเพื่อให้นักศึกษาที่ขาดแคลนสามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์
ทางด้าน “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” ก็ออกมาตรการช่วยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถึง 15 มาตรการด้วยกัน ได้แก่
1.ยกเว้นค่าเทอม
2.ลดลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 10% ของภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 ในปีการศึกษา 2563
3.มอบทุนช่วยเหลือนักศึกษามากกว่า 1,000 ทุน
4.คืนค่าเช่าหอพักในสถาบันให้นักศึกษาเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักศึกษาที่ชำระเงินไปแล้ว สามารถทำเรื่องขอรับเงินคืนได้
5.คืนค่าน้ำ เป็นเวลา 2 เดือน ให้แก่นักศึกษาที่อาศัยอยู่ที่หอพักในสถาบัน
6.เจรจากับหอพักนอกเพื่อลดค่าเช่าให้แก่นักศึกษา
7.ทำประกันภัยโควิด-19 ฟรีให้นักศึกษาทุกคน ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี
8.นักศึกษา สจล. และบุคลากรที่มีอาการเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการประเมินว่าจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศ และสามารถนำหลักฐานใบรับรองแพทย์ และค่าใช้จ่ายมาติดต่อขอรับเงินคืนได้ที่สำนักงานกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ในวงเงิน 20,000 บาท
9.ให้คำปรึกษาการเรียนการสอนออนไลน์
10.ให้คำปรึกษาออนไลน์โดยนักจิตปรึกษา สำหรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบด้านความเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
11.นักศึกษาจบตามแผนการศึกษา
12.ให้ทุนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเผยแพร่ผลงานในรูปแบบออนไลน์
13.ขยายเวลาการสำเร็จการศึกษาอีก 1 ปี โดยจะไม่มีนักศึกษาที่พ้นสภาพนักศึกษา (retire) ในปีการศึกษานี้ รวมถึงไม่เก็บค่ารักษาสถานะภาพนักศึกษา
14.จ้างงานบัณฑิตใหม่ของสถาบันเข้าทำงานประมาณ 500 คน โดยเยียวยาสูงสุด 6 เดือน ในกรอบวงเงินคนละ 50,000 บาท
และ 15. แจกเจล สเปรย์ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ และหน้ากากอนามัย
อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีมาตรการช่วยเหลือที่คล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเพื่อติดตามมาตรการช่วยเหลือและการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ที่ปรับเปลี่ยนไป